วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2552

หน้าดินนั้น สำคัญไฉน

หลายวันก่อนต้องไถปรับหน้าดินเพื่อทำโรงเห็ด ทำให้พบว่า ชั้นหน้าดินหนาได้ใจมาก
ปกติแล้ว ดินดั้งเดิมเป็นดินลูกรังแดง มีชั้นผิวดินเป็นวัตถุธาตุอาหารบางๆ ยิ่งสวนไหนขยันฉีดยา ก็ยิ่งบางเบาจนแทบโชว์เนื้อลูกรัง แต่ผลจากการไม่ฉีดยาฆ่าหญ้า การปลูกถั่วพร้าคลุมดิน การเพาะเห็ดฟางกองเตี้ยด้วยทะลายปาล์ม ผ่านไปกว่า 10 ปี วันนี้สิ่งเหล่านั้นยังคงสั่งสมอยู่ในผืนดินผืนนี้

ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นสีของดินแยกกันชัดเจน ชั้นล่างจะสีแดง นั่นเป็นดินลูกรัง แต่ชั้นบนจะเป็นสีดำ นี่คือหน้าดินที่อุดมไปด้วยธาตุอาหาร ซากพืช ปุ๋ยหมักตามธรรมชาติ ผมลองวัดความหนาของชั้นหน้าดินที่ได้เห็น พบว่าหนามากกว่า 20 เซ็นติเมตร

ให้เห็นแบบชัดเจน ความแดงของดินลูกรัง แล้วแบบนี้ สงสัยกันมั้ยครับว่า ต้นไม้ที่งอกงามเหล่านั้น โตกันได้ยังไง คำตอบก็คือ อาศัยธาตุอาหารจากหน้าดิน ไงละครับ ยิ่งหน้าดินหนาและมีสภาพสมบูรณ์มากเท่าไหร่ ต้นไม้ก็เจริญได้ดีตามเท่านั้น ไม่เพียงต้นไม้ แต่สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่เกี่ยวกับห่วงโซ่ในธรรมชาติก็พลอยได้อานิสงค์นี้ด้วย ไส้เดือน นักพรวนดิน ก็มีที่อยู่ เชื้อราตามธรรมชาติที่ช่วยย่อยซากพืชซากสัตว์ที่ตามแล้วให้เป็นธาตุอาหาร กลับเข้าสู่ห่วงโซ่อีกครั้ง เศษใบไม้ที่ทับถม กิ่งไม้ใบหญ้าที่ตายแล้ว ทั้งหมดล้วนมีส่วนช่วยส่งเสริมความอุดมสมบูรณ์ของดิน ให้เหมาะต่อการดำรงชีวิตทั้งของต้นไม้และสัตว์ เมื่อดินดีขนาดนี้จึงไม่แปลกเลยที่รากหาอาหารของต้นไม้น้อยใหญ่จะกระจายกันอยู่บนชั้นหน้าดินแน่นขนัด แบบนี้ปลูกอะไรก็งามครับ แม้ไม่ใส่ปุ๋ยเคมีเลย ก็ไม่เดือดร้อน แล้วสวนคุณล่ะ มีหน้าดินแบบนี้หรือยัง

วันอังคารที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ปาล์มน้ำมันราคาดี

อาทิตย์ที่ผ่านมาไปแทงปาล์มกันสามคนพ่อลูกครับ คราวนี้เป็นรอบของแปลงล่าง มีต้นปาล์มอยู่ร้อยกว่าต้นเอง อายุได้ 4 ปีและน้อยกว่านั้น มาดูสภาพในสวนกันครับ

นี่เป็นทางที่พึ่งจะไถไปได้ไม่นาน เส้นทางโอบออกไปทางขวาของสวนจนสุด แล้ววกเข้าผ่ากลางสวนครับ เพื่อให้รถสามารถวิ่งวนเก็บทะลายได้


นี่ก็เป็นอีกเส้นที่ขนาดไปกับความยาวของสวน
ช่วงนี้มีฝนตกทุกวัน เช้าบ้าง เย็นบ้าง แล้วแต่ศรัทธา ดินจึงชุ่มชื้นอยู่เสมอ



นี่เป็นตัวอย่างทะลายปาล์มที่ยังไม่สุก สีจะเขียวเข้มแบบนี้ ต้นนึงก็จะมีประมาณ 2 - 4 ทะลาย และจะมีทะลายที่ผ่านช่วงการเป็นดอกมาหมาดๆอีก อย่างน้อย 1-3 ทะลาย ซึ่งหมายความว่า ในการตัดรอบถัดไป และ รอบถัดๆไป จะยังมีทะลายให้สม่ำเสมอแน่นอน แต่ จุดสำคัญคือ ความสมบูรณ์ของดินและน้ำต้องพร้อม ไม่เช่นนั้น ทะลายที่เกิดใหม่เหล่านี้จะชะงักการเติบโต

นี่เป็นตัวอย่าง ทะลายที่ไม่สมบูรณ์ เพราะขาดอาหาร หากเจอว่าปาล์มต้นไหนให้ทะลายแบบนี้ก็บำรุงด่วนเลยครับ ไม่งั้น รอบถัดไป จะเจอแบบนี้อีกแน่นอน


ปาล์มต้นนี้ยังไม่มีให้ตัดในรอบนี้ครับ แต่สังเกตว่า ทะลายที่กำลังจะแก่ และพร้อมให้ตัดในรอบถัดไปมีมากถึง 3 ทะลาย จากขนาดทะลาย น้ำหนักเฉลี่ยคงประมาณ 7-10 กิโลกรัม / ทะลาย นับเป็นตัวอย่างของต้นที่ดินสมบูรณ์ต้นนึงเลย แต่ถ้าเทียบกับแปลงเนินเขา ซึ่งต้นปาล์มอายุมากกว่า 8 ปีแล้ว น้ำหนักเฉลี่ยต่อทะลายจะอยู่ที่ 20 กิโลกรัม/ทะลาย แปลงล่างนี้ก็เด็กๆไปเลย

ปาล์มร่วง นี่เป็นสภาพที่จะเกิดขึ้นหากปล่อยให้ทะลายสุกจัด แต่ถ้าไม่ขี้เกียจ ปาล์มร่วงก็ได้ราคาสูงกว่าปาล์มแบบทะลายนะครับ ซึ่งผมแนะนำว่า เก็บให้หมดตั้งแต่ตอนที่เจอเลย ได้ประโยชน์ 2 ทาง คือ ขายได้ราคา และ ไม่ต้องเสียเวลากำจัดต้นปาล์มที่จะงอกงามแย่งธาตุอาหารของต้นแม่ในอนาคต ครับ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2552 ราคาปาล์มที่อ.พะโต๊ะ เป็นดังนี้ครับ
ปาล์มร่วง 5.0 บาท/ก.ก.
ปาล์มทะลาย 4.50 บาท/ก.ก.

และเพื่อเป็นแนวทางแก่ผู้ที่ยังไม่ทราบ (ขออภัยผู้ที่ทราบอยู่แล้ว) ขอแนะนำการบำรุงต้นปาล์มกันอีกครั้ง ตามลิงค์นี้ครับ
http://thai-farmer.blogspot.com/2009/09/blog-post_28.html

วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2552

รายได้เสริมของชาวสวน

เมื่อฤดูเก็บเกี่ยวหลักผ่านพ้นไป ช่วงเวลาส่วนใหญ่ของชาวสวนคือการดูแลและบำรุงต้นและบำรุงดินให้พร้อมสำหรับการผลิตในฤดูกาลถัดไป หนึ่งในความพร้อมหลายๆอย่างก็คือ แมลงผสมเกษร ซึ่งก็คือ ผึ้งมิ้ม นั่นเอง
     ผึ้งมิ้มจะย้ายรังใหม่เมื่อตัวนางพญาตัวใหม่เกิดขึ้นมาหรือเมื่อไม่ค่อยมีอาหารในพื้นที่ โดยการส่งหน่วยสอดแนบไปสำรวจตรวจตราพื้นที่ ดูแหล่งอาหาร แหล่งที่พัก สังเกตได้ว่าสวนไหนมีผึ้งมิ้มมาทำรังบ่อยๆแสดงว่าสวนนั้นปลอดภัยไร้สารอันตรายต่อแมลง ซึ่งถือเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์และความปลอดภัยทางโภชนาการได้เป็นอย่างดี หากเราเห็นผึ้งมิ้มบินวนเวียนใกล้ๆมุมบ้าน หรือตามโรงเรือน ตามโพรงไม้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า มีฝูงอยู่ไม่ไกลแน่นอน ให้รีบเตรียมการสร้างบ้านเช่าไว้รอต้อนรับเค้าได้เลย

     วิธีการทำง่ายๆ แค่หาเศษไม้มาประกอบให้เป็นลังสี่เหลี่ยม ไม่ต้องแนบสนิทมากมาย ให้มีร่องมีรูให้ลมผ่านบ้าง ส่วนฝาก็ทำแบบหมุนสลักล็อก จะได้สะดวกเวลาเปิด วางบนเสาปูน มีหลังคาเก่าๆไว้กันฝน และหาผ้าชุบน้ำมันมาพันไว้ที่โคนเสากันมด ตรงรูทางเข้า หาขี้ผึ้งเก่าๆมาลนไฟเอาไว้ รับรองว่าต้องมีสมาชิกตัวเล็กๆมาอาศัยแน่นอน ปล่อยให้เค้าสร้างอาหารสะสมจนถึงเดือนห้า(ของไทยคือเดือนเมษายน)ก็เก็บน้ำผึ้งได้ ในรูปเป็นลังผึ้งมิ้มที่สามารถเก็บค่าเช่าได้รอบละ 3-4 ขวดกลม เลี้ยงเค้าแบบพอเพียง ก็จะได้น้ำผึ้งแบบพอเพียง อย่าเอาของเค้าหมดรังก็พอเค้าก็จะอยู่กับเราไปอีกนานครับ ที่สำคัญเรายังได้ผู้ช่วยมือดีมาผสมเกษรให้กับพืชผลของเราด้วย ประโยชน์หลายทางครับ

     ปิดท้ายด้วยรูปของดอกว่านหางจระเข้ ซึ่งสำหรับผม ถือเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นครับ 

วันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2552

บรรยากาศบ้านสวน

ช่วงนี้กำลังบำรุงยอดมังคุดอยู่ครับ ยอดรุ่นนี้แก่ช้ากว่าที่วางแผนไว้เพราะเจอฝนหนักและแดดน้อยติดต่อกันหลายวัน ช่วงรอมังคุดยอดแก่ก็มาดูบรรยากาศที่สวนกันครับ

เป็นบรรยากาศตอนเช้าเวลาประมาณ 8 โมง หมอกยังหนาอยู่เลยครับ อากาศกลางคืนหนาวได้ใจ นี่เป็นช่วงเดือนตุลาคม แต่ถ้าเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคมจะมีหมอกจนเกือบๆ 10 โมงเลย


     อีกเรื่องคือ กิ่งตอนชมพู่พลาสติกแตกรากเต็มที่แล้ว พร้อมที่จะลงดินในไม่ช้าครับ ขาดก็แต่ปุ๋ยคอกที่ช่วงนี้หาได้ยากจริงๆ ใครมีแหล่งผลิตแนะนำผมบ้างนะครั

     อัปเดตครับ ต้นผักเหลียงที่เคยบอกว่าไปตอนเอาไว้ วันนี้ลงดินไปแล้วครับ เลยเอารูปมาฝากเผื่อว่าใครไม่เคยเห็น ถ้าเห็นกันแล้วก็ขออภัยครับ ^^"

วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2552

ผืนดินชุ่มชื่นกลางสายฝน

     ช่วงนี้มีลมรสุมพัดเข้าจากด้านทะเลเวียดนาม ส่งผลให้มีฝนตกชุกตั้งแต่ภาคเหนือลงมา จังหวัดชุมพรก็ได้รับอานิสงค์ไปด้วย สวนมังคุดจึงได้รับฝนเต็มที่ ปุ๋ยที่ใส่ไว้เมื่อต้นเดือนเริ่มส่งผลแล้ว ยอดอ่อนรุ่นแรกแตกออกมาให้ได้ชื่นใจ อีกซัก 1 อาทิตย์ ฝนคงจะเบาบางลง คงได้เวลาใส่ปุ๋ยสูตรเสมอเพื่อบำรุงใบกันอีกรอบ ช่วงนี้ทำได้แค่ผสมปุ๋ยหมักรอไว้ก่อน ยังไม่รีบใช้เพราะใต้โคนมังคุดมีทลายปาลม์ที่ผ่านการเพาะเห็ดฟางอยู่มากกว่า 20 ตัน กระจายกันเกือบทั้งสวน เป็นปุ๋ยหมักชั้นดีเลยทีเดียว ท่านพ่อเคยยกทลายปาลม์ดู เจอใส้เดือนอ้วนๆมากมาย แสดงให้เห็นว่าดินอุดมสมบูรณ์ใช้ได้เลย ประกอบกับไม่มีการใช้สารเคมีสังเคราะห์จำพวกยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง มากว่า 10 ปี ด้วยแล้ว สวนนี้จึงเป็นสวนไร้สารอีกแห่งเลยทีเดียว
     ยังมีอีกเรื่องที่น่าชื่นใจ กิ่งตอนของต้นผักเหลียงแตกรากออกมาแล้ว อีกไม่กี่วันคงได้เวลาตัดไปปลูกล่ะ หลังจากรอมาเกือบ15วัน ความตั้งใจก็จะเป็นจริงแล้ว ปลายเดือนหลังจากปลูกชุดนี้ไป ประมาณ เกือบๆ 100 ต้น ก็จะลงมือตอนกิ่งใหม่เพิ่มอีก เพื่อไว้ปลูกใต้โคนต้นมังคุด หวังประโยชน์ 2 ทาง ทั้งช่วยดูดน้ำ และ เก็บยอดขาย ไว้สะดวกเมื่อไหร่จะได้ถ่ายรูปมาฝากกัน
     ขณะที่พืชหลักรายปี อย่างมังคุด อยู่ในช่วงบำรุง พืชที่ให้รายได้ทุกเดือนอย่าง ปาล์ม ก็ยังให้รายได้ต่อเนื่องมาตลอด และเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย ด้วยความตั้งใจ จึงได้ทำปฏิทินการให้ปุ๋ยปาล์มแบบอินทรีย์มานำเสนอ ประยุกต์วิธีการมาจากผู้รอบรู้และผู้สำเร็จในอาชีพ



     จะเห็นว่ามี 2 แบบนะครับ แบบแรกเป็นระบบปุ๋ยเคมีสำเร็จรูป ซึ่งมีสูตรชัดเจน และสูตรนี้ให้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ !!! ต้องลงทุนสูงมากเมื่อเทียบกับสูตรที่สอง ซึ่งเป็นการใช้น้ำหมักชีวภาพ(น้ำปลาหมัก)และปุ๋ยหมักชีวภาพ ร่วมกับการสร้างปุ๋ยหมักด้วยทางปาล์มกลางสวน ซึ่งได้ผลผลิตทลายปาล์มน้อยกว่าแบบแรกประมาณ 10-30% แต่ต้นทุนต่างกันกว่า 80% เลยทีเดียว
     สิ่งที่คล้ายคลึงกันคือช่วงเวลาที่ทำการใส่ปุ๋ย คือ ช่วงต้นฤดูฝน ปลายฤดูฝน แต่อาจคลาดเคลื่อนกันบ้างเล็กน้อย ให้ยึดตามฤดูกาลของแต่ละท้องถิ่นเป็นหลักนะครับ ส่วนการให้น้ำในหน้าแล้งนั้น ควรทำทั้งสองแบบ  เพราะจะช่วยให้ปาล์มให้ผลผลิตได้ดีขึ้น ถ้าพูดตามหลักวิชาการคือ ปริมาณน้ำมีผลต่อการเจริญเติมโตและการสร้างตาดอกของทลายปาล์ม ถ้ามีการจัดการดูแลที่ดี ในปาล์มอายุ 5 ปีขึ้นไป น่าจะมีผลผลิตเฉลี่ย 0.5 - 1.0 ตัน / ไร่ ต่อรอบเลยทีเดียว (ขึ้นอยู่กับพันธ์ปาล์มและที่ตั้งแปลงรวมถึงลักษณะดินฟ้าอากาศด้วย) และเมื่อปาล์มอายุมากขึ้นก็จะให้ผลผลิตสูงขึ้น โดยช่วงที่ปาล์มให้ผลผลิตสูงที่สุดคือช่วงเดือน กรกฏาคม - กันยายน

มาลองคิดเลขกันเล่นๆ ในสวนปาล์มที่บำรุงนิดหน่อย อาศัยดินดี ฝนดี

ปาล์ม 1 ทะลาย โดยทั่วไปจะหนักประมาณ 5-20 ก.ก.
เฉลี่ยทะลายสมบูรณ์ 12 ก.ก. ผมปัดทิ้งให้เหลือ 10 ก.ก. / ทะลาย

ปาล์มสมบูรณ์ 1 ต้น ให้ผลผลิต 2-4 ทะลาย หรือ 20-40 ก.ก./ต้น เฉลี่ยที่ 30 ก.ก. / ต้น

1 ไร่ มีประมาณ 22 ต้น
 22 ต้น/ไร่ * 30 ก.ก./ต้น = 660 ก.ก. / ไร่

ถ้าขายได้ราคา 3 บาท / ก.ก. --> 3 บาท/ก.ก. * 660 ก.ก. / ไร่ = 1,980 บาท / ไร่
ถ้าบ้านใครปลูกปาล์มซัก 10 ไร่ ---> 1,980 บาท/ไร่ * 10 ไร่  = 19,800 บาท / รอบ

รอบนึงตัดครั้งนึง สมมติใช้เวลา 2 วัน จ้างคนงาน 2 คน
ค่าแรง 250 บาท / คน / วัน
จะต้องเสียค่าแรงงาน = 250 บาท/คน/วัน * 2 คน * 2 วัน/รอบ = 1,000 บาท/รอบ

เสียค่าน้ำมันรถ 500 บาท

หักลบกันง่ายๆ 19,800 - 1,000 - 500  = 18,300 บาท

ต่อไปเป็นตัวแปรหลัก นั่นคือ ราคาปุ๋ย

ถ้าเลือกได้ หันไปใช้สูตรแบบสองน่าจะดีกว่าครับ เพราะปุ๋ยเคมีมันแพง ประมาณ 1,200 บาท/ไร่ ทั้งยังทำลายโครงสร้างดินด้วย ในขณะที่ปุ๋ยชีวภาพส่งเสริมรากปาล์ม ส่งเสริมสิ่งมีชีวิตในดิน ดินดีขึ้น ที่สำคัญสุดๆคือ ราคาถูก ประมาณ 500 บาท/ไร่ และทำเองได้ครับ

ปาล์ม 10 ไร่ ถ้าใช้สูตร 1 ปุ๋ยเคมี จะจ่ายค่าปุ๋ย 10 ไร่ * 1,200 บาท/ไร่ = 12,000 บาท
ปาล์ม 10 ไร่ ถ้าใช้สูตร 2 ปุ๋ยชีวภาพ จะจ่ายค่าปุ๋ย 10 ไร่ * 500 บาท/ไร่ = 5,000 บาท

เอารายได้จากการหักค่าแรงงานและขนส่งมาคิด

แบบสูตร 1 จะได้  18,300 - 12,000 =   6,300 บาท
แบบสูตร 2 จะได้  18,300 -  5,000  = 13,300 บาท

เพื่อให้เห็นความแตกต่าง สมมติ มี นาย ก. และ นาย ข. พื้นที่สวนติดกัน
นาย ก. ทำแบบ สูตร 1
นาย ข. ทำแบบ สูตร 2
ให้ทั้งสองคนออมเงิน 50% จากรายได้สวนปาล์ม
ผ่านไป 1 ปี นาย ก. มีเงินออม 6,300 บาท * 50% * 12 เดือน = 37,800 บาท + ดินโทรม ผลผลิตปีต่อไปจะเริ่มลดลง
ผ่านไป 1 ปี นาย ข. มีเงินออม 13,300 บาท * 50% * 12 เดือน = 79,800 บาท + ดินดีมาก แม้ปีต่อไปไม่ใส่ปุ๋ยเท่าเดิม แต่ก็ยังมีผลผลิตสูงอยู่ดี

นี่แค่ให้เห็นภาพที่ชัดเจนเท่านั้น ในความเป็นจริง การใส่ปุ๋ยก็ไม่ได้ทำทุกเดือน และรายได้ก็ไม่ได้เท่ากันทุกเดือนด้วย อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่า มีช่วงที่ปาล์มให้ผลผลิตเยอะๆอยู่ ช่วงนึงคือ กรกฏาคม - กันยายน(หน้าฝน) ส่วนที่อยู่นอกช่วงเวลานี้ คือผลชี้ขาดที่จะแสดงให้เห็นความทุ่มเทและความใส่ใจของเจ้าของสวนปาล์มแต่ละคนครับ

เดี๋ยวจะหาว่าผมมั่วเอา มาดูข้อมูลราคาปุ๋ยเคมีกัน
ปุ๋ยเคมีสูตร 36-0-0      630            
ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15     830          
ปุ๋ยเคมีสูตร 17-9-9     650          
ปุ๋ยเคมีสูตร 16-8-8     650          
ปุ๋ยเคมีสูตร 16-20-0     830          
ปุ๋ยเคมีสูตร 15-7-18     800          
ปุ๋ยเคมีสูตร 12-12-27     950          
ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21     980          
ปุ๋ยเคมีสูตร 25-7-7     830          
ปุ๋ยเคมีสูตร 8-24-24     1,250          
ปุ๋ยเคมีสูตร 35-5-0     630          
ปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-8     790

นี่เป็นราคาที่มีคนเสนอแข่งกันในเว็บๆนึงเมื่อเดือนสิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา(ขออ้างอิงหน่อยนะครับ)

ก่อนจบ เป็นขั้นตอนการทำปุ๋ยหมักชีวภาพ(โบกาฉิ) ของคุณวิศาล มาฝากกันครับ
1.แกลบหรือเมล็ดเปลือกกาแฟ 1 ส่วน
2.มูลสัตว์ 1 ส่วน
3.ผสม EM 1 ลิตร + กากน้ำตาล 1 ลิตร + น้ำ 10 ลิตร
4.คลุกเคล้า 1+2+3 ให้มีความชื้นประมาณ 50%
5.เอารำละเอียดมาคลุกกับผลจากข้อ 4.
6.กองบนพื้น ความหนาประมาณ 15-20 ซม. คลุมด้วยกระสอบป่าน กลับกองปุ๋ยทุกวัน เพื่อไม่ให้อุณหภูมิเกิน 50 องศา
7.หมักไว้ 5-7 วัน หรือจนกว่าจะแห้ง

การนำไปใช้คือ ใช้โรยรอบทรงพุ่ม ต้นละ 1-2 ก.ก.

ขอขอบพระคุณองค์ความรู้ของ
1.คุณปราโมทย์  ปานเจริญ เกษตรกร อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี
2.คุณวิศาล จงประเสริฐ เกษตรกร อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร

วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2552

ทำฮอร์โมนใช้ในสวนมังคุด

วันนี้ค้นหาข้อมูลการทำฮอร์โมนเพื่อใช้งานในสวนมังคุดมาฝาก เป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้ขั้วดอกเหนียว แและช่วยให้มีผลดก ชื่อที่เรียกทั่วไปคือ ทำฮอร์โมนรกหมู

ส่วนผสม
  1. รกหมูคลอดใหม่หรือรกของสัตว์ชนิดอื่น              1 รก
  2. หรือ ถ้าไม่มีรกหมู อาจใช้ ขี้ปลา หรือ หัวปลา แทนในอัตรา 3 ต่อ 1 ของรกหมู
  3. กาากน้ำตาล                                             500 ซีซี
  4. น้ำ                                                           10 ลิตร
  5. หัวเชื้อจุลินทรีย์ทีเอ็ม                                    50 ซีซี
วิธีทำ
  1. นำน้ำ + กากาน้ำตาล + หัวเชื้อจุลินทรีย์ทีเอ็ม ผสมกันในถัง (ที่มีฝาปิดได้สนิท) คนไปทางเดียวกันจนละลายเข้ากัน 
  2. นำรกหมูหรือรกสัตว์ชนิดอื่นใส่กระสอบรูพรุน (กระสอบปุ๋ย) ใส่ในถัง ปิดฝาถังให้แน่น หมักไว้     12 วัน
วิธีใช้
     ใช้ฮอร์โมนรกหมู 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 5 ลิตร ฉีดพ่น

http://tawatchainakabut.multiply.com/journal?&page_start=40
http://www.budmgt.com/agri/agri01/bio-fertilizer.html

วันพุธที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2552

วางแผนทำมังคุดนอกฤดู

มาต่อด้วยแผนทำมังคุดนอกฤดูแบบละเอียด(ละมั้ง) ในการทำมังคุดนอกฤดู จากสวนมังคุดในฤดู เป็นกิจกรรมที่ต้องทำในวันที่กำหนดไว้ ระยะเวลาโดยรวมประมาณ 200 วัน และต้องการให้ได้ผลผลิตก่อนหน้าร้อนของปีหน้า (หน้าร้อนของภาคใต้ราวๆช่วง เมษา แต่ก็ร้อนมาตั้งแต่มีนาแล้ว ครับ)

เริ่มต้นกันตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยการเริ่มบำรุงต้นที่ผ่านการให้ผลผลิตมาสดๆร้อนๆ ด้วยปุ๋ยเคมี ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยน้ำ และ ฮอร์โมนน้ำหมักครับ ปุ๋ยที่ใช้ก็เน้นที่ใบด้วยครับ ระยะเวลาประมาณ 40 วัน ใบอ่อนชุดใหม่จะแก่ แล้ว ก็เริ่มบำรุงเพื่อเร่งยอดอ่อนรุ่น 2 ซึ่งใช้เวลาประมาณ 40 วันยอดอ่อนจึงจะแก่เต็มที่ แต่ก็แล้วแต่สภาพอากาศช่วงนั้นด้วย เมื่อใบมังคุดแน่นพอแล้ว ก็เข้าสู่ช่วงจำกัดน้ำ ใช้เวลาประมาณ 20-30วัน หรือจนเริ่มเห็นว่าใบมังคุดเฉาลง ก็เริ่มให้น้ำอีกครั้ง เมื่อได้น้ำ มังคุดจะออกดอกครับ (ตามทฤษฏีการทำมังคุดนอกฤดู) ช่วงออกดอกต้องประคบประหงมเต็มที่ ทั้งปุ๋ย ทั้งฮอร์โมน ถ้ารอดจนครบ 100 วันได้ก็ได้เฮละครับ

แผนการทำมังคุดนอกฤดู

     ช่วงสุดท้ายของฤดูผลไม้ ยังพอมีผลผลิตออกขายบ้างประปราย ทั้งมังคุดและลองกอง เฉพาะมังคุดมีราคาขยับขึ้นสูงเป็นสองเท่าของราคาช่วงตกต่ำ(อยู่ที่ 16-18 บาท/กก.) ถึงตอนนี้ชาวสวนหลายๆคนคงจะเริ่มต้นบำรุงต้นบำรุงใบ เพื่อรองรับการผลิตในรอบปีหน้า ทั้งการใส่ปุ๋ย ตัดแต่งกิ่ง และอื่นๆ แต่หากว่าใครกำลังคิดจะทำมังคุดนอกฤดู คงต้องศึกษาขั้นตอนการทำให้ละเอียด วางแผนการทำงานให้ชัดเจน และเตรียมหาวิธีการรับมือธรรมชาติที่แปรปรวนเอาไว้ด้วย
     การทำมังคุดนอกฤดูนั้นนิยมกันในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะแถวๆนครศรี มีผู้ประสพความสำเร็จอยู่หลายๆท่าน หากใครกำลังหาข้อมูลการทำมังคุดนอกฤดู คงจะได้อ่านข้อมูลความสำเร็จเหล่านั้นกันบ้าง

     ที่สวนผมเองก็กำลังเตรียมปรับแผนการผลิตใหม่ โดยแบ่งสวนสำหรับทำมังคุดนอกฤดู 30% ของพื้นที่ทั้งหมด ( แบ่งมาประมาณ 40 ต้น เพราะมีน้อยนิด) เป็นการทดลองกับของจริง แผนการคร่าวๆคือ
  1. บำรุงต้นหลังเก็บเกี่ยวในฤดูกาลปกติ ด้วยปุ๋ยหมัก ปุ๋ยน้ำ และปุ๋ยเคมี ผสมผสานกัน เพื่อเร่งสร้างยอดอ่อนรุ่นแรก ดูแลให้ยอดแก่
  2. บำรุงทั้ง ใบ ต้น ราก ด้วยสูตร 15-15-15 ร่วมกับปุ๋ยหมักและน้ำEM เพื่อเร่งยอดอ่อนรุ่นที่ 2 บำรุงต่อจนกลายเป็นใบแก่
  3. *** หยุดให้น้ำ 21 วัน ทำให้ต้นมังคุดขาดน้ำ รอจนใบเริ่มเฉา จึงให้น้ำอีกครั้ง จะทำให้มังคุดออกดอก
  4. ** ใช้ฮอร์โมนยึดขั้วผลก่อนดอกบานและฉีดฮอร์โมนอีกรอบหลังจาก 4 สัปดาห์ผ่านไป พร้อมกับให้ปู๋ย 13-13-21 บำรุงผล การบำรุงอื่นๆยังเหมือนเดิม
**ตรงฮอร์โมนยึดขั้วผล รอบแรกคงใช้สำเร็จรูปก่อนครับ แต่หลังจากนี้จะเร่งทำน้ำหมักชีวิภาพสูตรฮอร์โมนยึดขึ้นมาใช้ทดแทน

***คาดว่าอาจมีฝนหลงมาบ้าง ผมอาจใช้วิธีคลุมโคนด้วยใบจากหรืออื่นๆ เพื่อให้โคนมังคุดแห้งมากที่สุด ทีสำคัญคือ ต้องแห้งติดต่อกันนานจนมังคุดเฉาเพราะขาดน้ำ ไม่เช่นนั้นก็ต้องนับหนึงใหม่
ผมเองไม่สนับสนุนการใช้ปุ๋ยเคมีครับ แต่ในการทดลองนี้เป้าหมายหลักคือ อยากรู้ว่าทำตามขั้นตอนที่ว่าจะได้ผลยังไง ในอนาคตปุ๋ยเคมีทั้งหมดจะถูกปรับเปลี่ยนเป็นปุ๋ยทำเอง สำหรับแผนโดยละเอียดจะมาบอกเล่ากันอีกรอบ อาจมีการปรับแผนด้วยครับหลังจากปรึกษากันในครอบครัวแล้ว
 
     อีกเรื่องคือ สำหรับคนที่คิดทำมังคุดนอกฤดู เป็นครั้งแรกในชีวิต ขอความกรุณา อย่าทำทีเดียวทั้ง 100% นะครับ เพราะคุณยังขาดประสบการณ์ อาจกลายเป็นเพิ่มต้นทุนโดยใช่เหตุ ยกเว้นว่าคุณมีครูดีอยู่ข้างๆสวน อย่างนั้นทำ 100% ไปเลยครับ และอย่าลืมมาบอกขั้นตอนของเซียนด้วยนะ ผมจะได้ประชาสัมพันธ์เพื่อชาวสวนมังคุดทุกคน ปิดท้ายด้วยรูปผลผลิตจากสวนในฤดูกาลนี้ คิดว่าทั้งคันขายได้เท่าไหร่ครับ

ความทุกข์ของชาวสวนมังคุด

ช่วงนี้เป็นฤดูผลไม้ จึงมีผลผลิตออกมามากมาย คนไทยทั่วไปก็มีความสุข ได้กินผลไม้ราคาถูก ขณะที่ชาวสวนต้องร้องให้ โดยเฉพาะชาวสวนผลไม้ทางภาคใต้ ต้องพบเจอกับวิกฤตราคาผลไม้ทุกปี เน้นว่าทุกปี โดยเฉพาะตั้งแต่เดือนกรกฎาคม - สิงหาคม ราคาจะตกต่ำมาก โดยเฉพาะราคามังคุด เงาะ และ ลองกอง
ยกตัวอย่างง่ายๆ มังคุด ราชินีแห่งผลไม้ ที่มีราคาอยู่ที่ 6-9 บาทต่อกิโลกรัม นี่หมายถึงผลที่เกรดดีสุด(A)แล้ว ยังไม่พูดถึงมังคุดดอก ดำ หรือเกรดB,C ชาวสวนขนมังคุดไปเต็มรถกระบะ น้ำหนักร่วมๆ 300 กิโลกรัม ได้เงินกลับมาไม่ถึง 1,500 บาท แค่ค่าแรงก็แทบไม่เหลือแล้ว  เวลาชาวสวนเรียกร้องให้ช่วยแก้ปัญหา มักได้คำตอบว่า แก้ไม่ได้เพราะปริมาณผลไม้ออกสู่ตลาดมีมากเกินความต้องการ ผลผลิตคุณภาพไม่ดี บลาๆๆๆ  แล้วแต่จะอ้าง แต่จากการรวบรวมข้อมูลทั้งจากอินเตอร์เน็ต จากการสอบถามพ่อค้าแผงลอย พ่อค้าคนกลาง พ่อค้าส่งออก ทำให้พอจะสรุปข้อมูลของปัญหาได้ดังนี้
  1. ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมๆกันโดยเฉพาะช่วงปลายกรกฎาคมถึงปลายสิงหาคม ทำให้ผู้ส่งออกไม่สามารถรับซื้อได้ทั้งหมด อีกทั้งยังมีแหล่งของสินค้าให้คัดสรรจากหลายแหล่ง พูดง่ายๆว่าชาวสวนต้องง้อพ่อค้า พ่อค้าจึงเป้นผู้กำหนดราคา ยิ่งห่างเมืองราคารับซื้อจะยิ่งลดลง เพราะมีการกินหัวคิวต่อเป็นทอดๆ
  2. มังคุดมีปัญหา เนื่องจากชาวสวนมังคุดส่วนใหญ่จากการสอบถามคนทำสวนกว่า 50 ราย(ที่พอจะถามได้) พบว่ากว่า 46 ราย ยังมีการเก็บลูกมังคุดที่ตกบนพื้น(ตกจากที่สูงๆ)หรือลูกใต้โคน ไปขายรวมกับลูกที่เก็บสดๆ  เมื่อเวลาผ่านไป อย่างเร็ว 1 วัน อย่างช้า 3-5วัน ผลมังคุดพวกนั้นจะแข็ง (หวังว่าคงเคยเจอ) ทำให้ผู้รับซื้อที่ต่างประเทศไม่กล้าสั่งสินค้าในปริมาณมากๆ เมื่อออเดอร์ลด ราคาก็ถูกลดไปด้วย เรียกว่าปลาเน่าๆหลายตัวทำให้ปลาเน่าทั้งเข่ง ข้อนี้เป็นปัญหาหลักและส่งผลต่อราคาอย่างยิ่ง เพราะพ่อค้าสามารถใช้เป้นข้ออ้างในการกดราคาได้ดีนัก
  3. ช่วงที่มังคุดให้ผลผลิต จะอยู่ในช่วงฤดูฝนของทางภาคใต้พอดี ทำให้มังคุดสุกเร็ว ยิ่งฝนลงยิ่งแข่งกันสุก ทำให้ผลมังคุดสุกงอมเร็ว กลายเป็นลูกดำ หากเก็บเกี่ยวช้าก็จะถูกตัดราคา (ราคาลูกเกรดA คือ 6-9 บาท ขณะที่ลูกดำ 2-3 บาท)
  4. ตลาดส่งออกยังจำกัด ผู้ซื้อก็รายเดิมๆ การแข่งขันจึงพบได้น้อยมาก ขณะที่การแปรรูปมังคุดในประเทศ ยังถูกจำกัดด้วยฤดูการและงบประมาณ กลัวว่าลงทุนเครื่องจักรไปแล้ว ทำการผลิตได้แค่ไม่กี่เดือน จะไม่คุ้ม
  5. นโยบายรัฐบาลไม่ชัดเจน ตกลงจะส่งเสริมหรือไม่ส่งเสริม จะช่วยหรือไม่ช่วย ต้องรอให้ชาวสวนออกมาเรียกร้องถึงจะกระดิกตัวทำงาน ไม่เคยมีนโยบายทำอะไรล่วงหน้า อย่าลืมว่ามังคุด เป็นผลไม้ เก็บได้ไม่กี่วันก็เน่าเสีย มัวรอร่างแก้ไขเข้าสภาคงไม่ไหว ดังนั้นหัดทำหัดคิดอะไรล่วงหน้าหลายๆเดือนบ้างก็ดี
เพื่เป็นการสนับสนุนว่าราคามังคุดตกต่ำขนาดไหน ผมมีข้อมูลที่เก็บจากสวนมังคุด (สวนผมเอง) มาให้ดู เป็นราคาขายมังคุดตลอดฤดูเก็บเกี่ยวนี้ครับ

เส้นสีน้ำเงิน คือราคาของมังคุดคัดเกรด A คิดจากบ้านไปรอบนึงแล้วก็ถูกแม่ค้าคัดอีกรอบ
เส้นสีแดง คือราคาขายมังคุดลูกดอก หรือลูกดำ ราคาใกล้ๆกัน บางแห่งรับซื้อแบบผสมๆราคาเดียวกัน
ผลผลิตมังคุดปีนี้รวมๆแล้ว ได้ 6 ตันกว่าๆนิดๆ แต่รวมๆเงินที่ได้(ยังไม่หักค่าแรงงาน,น้ำมันรถ,ปุ๋ยหมัก ฯลฯ) ยังไม่พอซื้อคอมพิวเตอร์ดีๆซักเครื่องเลย (ประมาณ 5 หมื่นบาท) นี่แค่เปรียบเทียบให้เห็นภาพความต่างของมูลค่าสินค้า สวนของผมเริ่มขายมังคุดครั้งแรกวันที่ 20 กรกฎาคม จนถึงปัจจุบันครับ

แล้วทางแก้ล่ะ ก็ยังพอมี
  1. เพื่อลดปริมาณผลผลิตในช่วงปลายกรกฎาคมถึงปลายสิงหาคม จึงขอเชิญชวนให้ชาวสวนมังคุดหันไปทำมังคุดนอกฤดู ทำทุกสวนไปเลย แต่ทำแค่ 20-30%ของมังคุดที่มีผมประมาณให้ง่ายๆ สมมติ ทำนอกฤดู 30% แต่ได้ผลแค่ 20% ราคาขายประมาณ 40 บาท ต่อ กิโลกรัม === 20*40 == 800 , ขณะที่เหลือในฤดู 70% ให้ผลผลิตเต็มเท่าที่มีเลย คือ 70% ราคาขายเฉลี่ยประมาณ 10 บาทต่อกิโลกรัม == 70*10 == 700 นี่เป็นตัวอย่าง ถ้าทำตามโมเดลนี้ ปริมาณผลผลิตในฤดูจะเหลือประมาณ 70% ของปัจจุบัน ราคาเฉลี่ยอาจสูงกว่าที่เป็นอยู่ก็ได้  แต่การทำนอกฤดูก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องลงทุนเงินและความมุ่งมั่น ความเอาใจใส่มาก แต่ผลตอบแทนก็คุ้มการความเหนื่อยครับ ที่สวนผมก็กำลังทดลองตามแนวทางที่คนที่ทำสำเร็จแนะนำอยู่ครับ
  2. เรื่องปัญหาคุณภาพมังคุด ส่วนใหญ่เกิดขึ้นขณะเก็บเกี่ยว ทั้งวิธีการเก็บที่รุนแรง และ การเก็บลูกใต้โคน คงต้องร่วมสร้างสำนึกและความรับผิดชอบแก่เจ้าของสวน แต่ก็อย่างว่า ไม้แก่ดัดยาก คงมีไม่น้อยที่ยังคงพฤติกรรมเดิมๆ  ผมจึงแนะนำว่า รวมกลุ่มเฉพาะสวนที่ไว้ใจกันจริงๆ อาจมีการสุ่มตรวจหรือตามไปดูการเก็บเกี่ยว คงให้ดูกันเองครับ แล้วติดต่อไปยังผู้รับซื้อขอต่อรองราคาที่คุ้มและยุติธรรมกับความทุ่มเทและความเอาใจใส่ต่อสินค้า อาจมากกว่าราคาท้องตลาด3-5บาทก็แล้วแต่ เพื่อให้ชาวสวนที่ทำดีมีกำลังใจทำต่อไป และยังเป็นแรงจูงใจให้กลุ่มอื่นๆพัฒนาคุณภาพสินค้าของตนให้สูงขึ้นด้วย
  3. สู้กับฝนคงไม่ไหว แต่ถ้าหาทางบรรเทาอาจพอมี เช่น พลาสติกคลุมโคน , ปลูกผักเช่นต้นเหลียงไว้ใต้โคนมังคุด ช่วยดูดน้ำส่วนเกิน แต่นั่นเป็นปลายเหตุ ถ้าทำข้อ 1 และ 2 ได้ ข้อ 3 ไม่มีปัญหาครับ จะตกยังไงก็สบาย
  4. หาตลาดใหม่ๆเพื่อส่งออก พวกคนทำส่งออกเองจะมีส่วนสำคัญมากในข้อนี้ เพราะรู้ขั้นตอนและระเบียนการส่งออกผลไม้ดี มีพันธมิตรการค้าหลากหลาย ยิ่งหมั่นหาตลาดส่งออกได้มาก ผู้ค้าก็ได้กำไรมาก
  5. ด้านรัฐบาล ก็ช่วยคิดนโยบายสนับสนุนการค้าสินค้าเกษตรล่วงหน้าบ้าง นโยบายนึงที่มีคนพูดถึงกันมากคือ การสั่งซื้อล่วงหน้า ซึ่งอาจทำให้ราคาผลไม้สูงขึ้น แต่ข้อนี้อาจไม่จำเป็นเลย ถ้าทำข้อ 1 และ 2 ได้
นี่เป็นปัญหาหนักอกที่ชาวสวนมังคุด และ สวนอื่นๆกำลังประสบอยู่ครับ หวังว่าปีหน้าคุณจะช่วยซื้อมังคุดกินโดยไม่เกี่ยงราคาบ้างนะครับ