วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2552

ผืนดินชุ่มชื่นกลางสายฝน

     ช่วงนี้มีลมรสุมพัดเข้าจากด้านทะเลเวียดนาม ส่งผลให้มีฝนตกชุกตั้งแต่ภาคเหนือลงมา จังหวัดชุมพรก็ได้รับอานิสงค์ไปด้วย สวนมังคุดจึงได้รับฝนเต็มที่ ปุ๋ยที่ใส่ไว้เมื่อต้นเดือนเริ่มส่งผลแล้ว ยอดอ่อนรุ่นแรกแตกออกมาให้ได้ชื่นใจ อีกซัก 1 อาทิตย์ ฝนคงจะเบาบางลง คงได้เวลาใส่ปุ๋ยสูตรเสมอเพื่อบำรุงใบกันอีกรอบ ช่วงนี้ทำได้แค่ผสมปุ๋ยหมักรอไว้ก่อน ยังไม่รีบใช้เพราะใต้โคนมังคุดมีทลายปาลม์ที่ผ่านการเพาะเห็ดฟางอยู่มากกว่า 20 ตัน กระจายกันเกือบทั้งสวน เป็นปุ๋ยหมักชั้นดีเลยทีเดียว ท่านพ่อเคยยกทลายปาลม์ดู เจอใส้เดือนอ้วนๆมากมาย แสดงให้เห็นว่าดินอุดมสมบูรณ์ใช้ได้เลย ประกอบกับไม่มีการใช้สารเคมีสังเคราะห์จำพวกยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง มากว่า 10 ปี ด้วยแล้ว สวนนี้จึงเป็นสวนไร้สารอีกแห่งเลยทีเดียว
     ยังมีอีกเรื่องที่น่าชื่นใจ กิ่งตอนของต้นผักเหลียงแตกรากออกมาแล้ว อีกไม่กี่วันคงได้เวลาตัดไปปลูกล่ะ หลังจากรอมาเกือบ15วัน ความตั้งใจก็จะเป็นจริงแล้ว ปลายเดือนหลังจากปลูกชุดนี้ไป ประมาณ เกือบๆ 100 ต้น ก็จะลงมือตอนกิ่งใหม่เพิ่มอีก เพื่อไว้ปลูกใต้โคนต้นมังคุด หวังประโยชน์ 2 ทาง ทั้งช่วยดูดน้ำ และ เก็บยอดขาย ไว้สะดวกเมื่อไหร่จะได้ถ่ายรูปมาฝากกัน
     ขณะที่พืชหลักรายปี อย่างมังคุด อยู่ในช่วงบำรุง พืชที่ให้รายได้ทุกเดือนอย่าง ปาล์ม ก็ยังให้รายได้ต่อเนื่องมาตลอด และเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย ด้วยความตั้งใจ จึงได้ทำปฏิทินการให้ปุ๋ยปาล์มแบบอินทรีย์มานำเสนอ ประยุกต์วิธีการมาจากผู้รอบรู้และผู้สำเร็จในอาชีพ



     จะเห็นว่ามี 2 แบบนะครับ แบบแรกเป็นระบบปุ๋ยเคมีสำเร็จรูป ซึ่งมีสูตรชัดเจน และสูตรนี้ให้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ !!! ต้องลงทุนสูงมากเมื่อเทียบกับสูตรที่สอง ซึ่งเป็นการใช้น้ำหมักชีวภาพ(น้ำปลาหมัก)และปุ๋ยหมักชีวภาพ ร่วมกับการสร้างปุ๋ยหมักด้วยทางปาล์มกลางสวน ซึ่งได้ผลผลิตทลายปาล์มน้อยกว่าแบบแรกประมาณ 10-30% แต่ต้นทุนต่างกันกว่า 80% เลยทีเดียว
     สิ่งที่คล้ายคลึงกันคือช่วงเวลาที่ทำการใส่ปุ๋ย คือ ช่วงต้นฤดูฝน ปลายฤดูฝน แต่อาจคลาดเคลื่อนกันบ้างเล็กน้อย ให้ยึดตามฤดูกาลของแต่ละท้องถิ่นเป็นหลักนะครับ ส่วนการให้น้ำในหน้าแล้งนั้น ควรทำทั้งสองแบบ  เพราะจะช่วยให้ปาล์มให้ผลผลิตได้ดีขึ้น ถ้าพูดตามหลักวิชาการคือ ปริมาณน้ำมีผลต่อการเจริญเติมโตและการสร้างตาดอกของทลายปาล์ม ถ้ามีการจัดการดูแลที่ดี ในปาล์มอายุ 5 ปีขึ้นไป น่าจะมีผลผลิตเฉลี่ย 0.5 - 1.0 ตัน / ไร่ ต่อรอบเลยทีเดียว (ขึ้นอยู่กับพันธ์ปาล์มและที่ตั้งแปลงรวมถึงลักษณะดินฟ้าอากาศด้วย) และเมื่อปาล์มอายุมากขึ้นก็จะให้ผลผลิตสูงขึ้น โดยช่วงที่ปาล์มให้ผลผลิตสูงที่สุดคือช่วงเดือน กรกฏาคม - กันยายน

มาลองคิดเลขกันเล่นๆ ในสวนปาล์มที่บำรุงนิดหน่อย อาศัยดินดี ฝนดี

ปาล์ม 1 ทะลาย โดยทั่วไปจะหนักประมาณ 5-20 ก.ก.
เฉลี่ยทะลายสมบูรณ์ 12 ก.ก. ผมปัดทิ้งให้เหลือ 10 ก.ก. / ทะลาย

ปาล์มสมบูรณ์ 1 ต้น ให้ผลผลิต 2-4 ทะลาย หรือ 20-40 ก.ก./ต้น เฉลี่ยที่ 30 ก.ก. / ต้น

1 ไร่ มีประมาณ 22 ต้น
 22 ต้น/ไร่ * 30 ก.ก./ต้น = 660 ก.ก. / ไร่

ถ้าขายได้ราคา 3 บาท / ก.ก. --> 3 บาท/ก.ก. * 660 ก.ก. / ไร่ = 1,980 บาท / ไร่
ถ้าบ้านใครปลูกปาล์มซัก 10 ไร่ ---> 1,980 บาท/ไร่ * 10 ไร่  = 19,800 บาท / รอบ

รอบนึงตัดครั้งนึง สมมติใช้เวลา 2 วัน จ้างคนงาน 2 คน
ค่าแรง 250 บาท / คน / วัน
จะต้องเสียค่าแรงงาน = 250 บาท/คน/วัน * 2 คน * 2 วัน/รอบ = 1,000 บาท/รอบ

เสียค่าน้ำมันรถ 500 บาท

หักลบกันง่ายๆ 19,800 - 1,000 - 500  = 18,300 บาท

ต่อไปเป็นตัวแปรหลัก นั่นคือ ราคาปุ๋ย

ถ้าเลือกได้ หันไปใช้สูตรแบบสองน่าจะดีกว่าครับ เพราะปุ๋ยเคมีมันแพง ประมาณ 1,200 บาท/ไร่ ทั้งยังทำลายโครงสร้างดินด้วย ในขณะที่ปุ๋ยชีวภาพส่งเสริมรากปาล์ม ส่งเสริมสิ่งมีชีวิตในดิน ดินดีขึ้น ที่สำคัญสุดๆคือ ราคาถูก ประมาณ 500 บาท/ไร่ และทำเองได้ครับ

ปาล์ม 10 ไร่ ถ้าใช้สูตร 1 ปุ๋ยเคมี จะจ่ายค่าปุ๋ย 10 ไร่ * 1,200 บาท/ไร่ = 12,000 บาท
ปาล์ม 10 ไร่ ถ้าใช้สูตร 2 ปุ๋ยชีวภาพ จะจ่ายค่าปุ๋ย 10 ไร่ * 500 บาท/ไร่ = 5,000 บาท

เอารายได้จากการหักค่าแรงงานและขนส่งมาคิด

แบบสูตร 1 จะได้  18,300 - 12,000 =   6,300 บาท
แบบสูตร 2 จะได้  18,300 -  5,000  = 13,300 บาท

เพื่อให้เห็นความแตกต่าง สมมติ มี นาย ก. และ นาย ข. พื้นที่สวนติดกัน
นาย ก. ทำแบบ สูตร 1
นาย ข. ทำแบบ สูตร 2
ให้ทั้งสองคนออมเงิน 50% จากรายได้สวนปาล์ม
ผ่านไป 1 ปี นาย ก. มีเงินออม 6,300 บาท * 50% * 12 เดือน = 37,800 บาท + ดินโทรม ผลผลิตปีต่อไปจะเริ่มลดลง
ผ่านไป 1 ปี นาย ข. มีเงินออม 13,300 บาท * 50% * 12 เดือน = 79,800 บาท + ดินดีมาก แม้ปีต่อไปไม่ใส่ปุ๋ยเท่าเดิม แต่ก็ยังมีผลผลิตสูงอยู่ดี

นี่แค่ให้เห็นภาพที่ชัดเจนเท่านั้น ในความเป็นจริง การใส่ปุ๋ยก็ไม่ได้ทำทุกเดือน และรายได้ก็ไม่ได้เท่ากันทุกเดือนด้วย อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่า มีช่วงที่ปาล์มให้ผลผลิตเยอะๆอยู่ ช่วงนึงคือ กรกฏาคม - กันยายน(หน้าฝน) ส่วนที่อยู่นอกช่วงเวลานี้ คือผลชี้ขาดที่จะแสดงให้เห็นความทุ่มเทและความใส่ใจของเจ้าของสวนปาล์มแต่ละคนครับ

เดี๋ยวจะหาว่าผมมั่วเอา มาดูข้อมูลราคาปุ๋ยเคมีกัน
ปุ๋ยเคมีสูตร 36-0-0      630            
ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15     830          
ปุ๋ยเคมีสูตร 17-9-9     650          
ปุ๋ยเคมีสูตร 16-8-8     650          
ปุ๋ยเคมีสูตร 16-20-0     830          
ปุ๋ยเคมีสูตร 15-7-18     800          
ปุ๋ยเคมีสูตร 12-12-27     950          
ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21     980          
ปุ๋ยเคมีสูตร 25-7-7     830          
ปุ๋ยเคมีสูตร 8-24-24     1,250          
ปุ๋ยเคมีสูตร 35-5-0     630          
ปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-8     790

นี่เป็นราคาที่มีคนเสนอแข่งกันในเว็บๆนึงเมื่อเดือนสิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา(ขออ้างอิงหน่อยนะครับ)

ก่อนจบ เป็นขั้นตอนการทำปุ๋ยหมักชีวภาพ(โบกาฉิ) ของคุณวิศาล มาฝากกันครับ
1.แกลบหรือเมล็ดเปลือกกาแฟ 1 ส่วน
2.มูลสัตว์ 1 ส่วน
3.ผสม EM 1 ลิตร + กากน้ำตาล 1 ลิตร + น้ำ 10 ลิตร
4.คลุกเคล้า 1+2+3 ให้มีความชื้นประมาณ 50%
5.เอารำละเอียดมาคลุกกับผลจากข้อ 4.
6.กองบนพื้น ความหนาประมาณ 15-20 ซม. คลุมด้วยกระสอบป่าน กลับกองปุ๋ยทุกวัน เพื่อไม่ให้อุณหภูมิเกิน 50 องศา
7.หมักไว้ 5-7 วัน หรือจนกว่าจะแห้ง

การนำไปใช้คือ ใช้โรยรอบทรงพุ่ม ต้นละ 1-2 ก.ก.

ขอขอบพระคุณองค์ความรู้ของ
1.คุณปราโมทย์  ปานเจริญ เกษตรกร อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี
2.คุณวิศาล จงประเสริฐ เกษตรกร อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร

วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2552

ทำฮอร์โมนใช้ในสวนมังคุด

วันนี้ค้นหาข้อมูลการทำฮอร์โมนเพื่อใช้งานในสวนมังคุดมาฝาก เป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้ขั้วดอกเหนียว แและช่วยให้มีผลดก ชื่อที่เรียกทั่วไปคือ ทำฮอร์โมนรกหมู

ส่วนผสม
  1. รกหมูคลอดใหม่หรือรกของสัตว์ชนิดอื่น              1 รก
  2. หรือ ถ้าไม่มีรกหมู อาจใช้ ขี้ปลา หรือ หัวปลา แทนในอัตรา 3 ต่อ 1 ของรกหมู
  3. กาากน้ำตาล                                             500 ซีซี
  4. น้ำ                                                           10 ลิตร
  5. หัวเชื้อจุลินทรีย์ทีเอ็ม                                    50 ซีซี
วิธีทำ
  1. นำน้ำ + กากาน้ำตาล + หัวเชื้อจุลินทรีย์ทีเอ็ม ผสมกันในถัง (ที่มีฝาปิดได้สนิท) คนไปทางเดียวกันจนละลายเข้ากัน 
  2. นำรกหมูหรือรกสัตว์ชนิดอื่นใส่กระสอบรูพรุน (กระสอบปุ๋ย) ใส่ในถัง ปิดฝาถังให้แน่น หมักไว้     12 วัน
วิธีใช้
     ใช้ฮอร์โมนรกหมู 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 5 ลิตร ฉีดพ่น

http://tawatchainakabut.multiply.com/journal?&page_start=40
http://www.budmgt.com/agri/agri01/bio-fertilizer.html

วันพุธที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2552

วางแผนทำมังคุดนอกฤดู

มาต่อด้วยแผนทำมังคุดนอกฤดูแบบละเอียด(ละมั้ง) ในการทำมังคุดนอกฤดู จากสวนมังคุดในฤดู เป็นกิจกรรมที่ต้องทำในวันที่กำหนดไว้ ระยะเวลาโดยรวมประมาณ 200 วัน และต้องการให้ได้ผลผลิตก่อนหน้าร้อนของปีหน้า (หน้าร้อนของภาคใต้ราวๆช่วง เมษา แต่ก็ร้อนมาตั้งแต่มีนาแล้ว ครับ)

เริ่มต้นกันตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยการเริ่มบำรุงต้นที่ผ่านการให้ผลผลิตมาสดๆร้อนๆ ด้วยปุ๋ยเคมี ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยน้ำ และ ฮอร์โมนน้ำหมักครับ ปุ๋ยที่ใช้ก็เน้นที่ใบด้วยครับ ระยะเวลาประมาณ 40 วัน ใบอ่อนชุดใหม่จะแก่ แล้ว ก็เริ่มบำรุงเพื่อเร่งยอดอ่อนรุ่น 2 ซึ่งใช้เวลาประมาณ 40 วันยอดอ่อนจึงจะแก่เต็มที่ แต่ก็แล้วแต่สภาพอากาศช่วงนั้นด้วย เมื่อใบมังคุดแน่นพอแล้ว ก็เข้าสู่ช่วงจำกัดน้ำ ใช้เวลาประมาณ 20-30วัน หรือจนเริ่มเห็นว่าใบมังคุดเฉาลง ก็เริ่มให้น้ำอีกครั้ง เมื่อได้น้ำ มังคุดจะออกดอกครับ (ตามทฤษฏีการทำมังคุดนอกฤดู) ช่วงออกดอกต้องประคบประหงมเต็มที่ ทั้งปุ๋ย ทั้งฮอร์โมน ถ้ารอดจนครบ 100 วันได้ก็ได้เฮละครับ

แผนการทำมังคุดนอกฤดู

     ช่วงสุดท้ายของฤดูผลไม้ ยังพอมีผลผลิตออกขายบ้างประปราย ทั้งมังคุดและลองกอง เฉพาะมังคุดมีราคาขยับขึ้นสูงเป็นสองเท่าของราคาช่วงตกต่ำ(อยู่ที่ 16-18 บาท/กก.) ถึงตอนนี้ชาวสวนหลายๆคนคงจะเริ่มต้นบำรุงต้นบำรุงใบ เพื่อรองรับการผลิตในรอบปีหน้า ทั้งการใส่ปุ๋ย ตัดแต่งกิ่ง และอื่นๆ แต่หากว่าใครกำลังคิดจะทำมังคุดนอกฤดู คงต้องศึกษาขั้นตอนการทำให้ละเอียด วางแผนการทำงานให้ชัดเจน และเตรียมหาวิธีการรับมือธรรมชาติที่แปรปรวนเอาไว้ด้วย
     การทำมังคุดนอกฤดูนั้นนิยมกันในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะแถวๆนครศรี มีผู้ประสพความสำเร็จอยู่หลายๆท่าน หากใครกำลังหาข้อมูลการทำมังคุดนอกฤดู คงจะได้อ่านข้อมูลความสำเร็จเหล่านั้นกันบ้าง

     ที่สวนผมเองก็กำลังเตรียมปรับแผนการผลิตใหม่ โดยแบ่งสวนสำหรับทำมังคุดนอกฤดู 30% ของพื้นที่ทั้งหมด ( แบ่งมาประมาณ 40 ต้น เพราะมีน้อยนิด) เป็นการทดลองกับของจริง แผนการคร่าวๆคือ
  1. บำรุงต้นหลังเก็บเกี่ยวในฤดูกาลปกติ ด้วยปุ๋ยหมัก ปุ๋ยน้ำ และปุ๋ยเคมี ผสมผสานกัน เพื่อเร่งสร้างยอดอ่อนรุ่นแรก ดูแลให้ยอดแก่
  2. บำรุงทั้ง ใบ ต้น ราก ด้วยสูตร 15-15-15 ร่วมกับปุ๋ยหมักและน้ำEM เพื่อเร่งยอดอ่อนรุ่นที่ 2 บำรุงต่อจนกลายเป็นใบแก่
  3. *** หยุดให้น้ำ 21 วัน ทำให้ต้นมังคุดขาดน้ำ รอจนใบเริ่มเฉา จึงให้น้ำอีกครั้ง จะทำให้มังคุดออกดอก
  4. ** ใช้ฮอร์โมนยึดขั้วผลก่อนดอกบานและฉีดฮอร์โมนอีกรอบหลังจาก 4 สัปดาห์ผ่านไป พร้อมกับให้ปู๋ย 13-13-21 บำรุงผล การบำรุงอื่นๆยังเหมือนเดิม
**ตรงฮอร์โมนยึดขั้วผล รอบแรกคงใช้สำเร็จรูปก่อนครับ แต่หลังจากนี้จะเร่งทำน้ำหมักชีวิภาพสูตรฮอร์โมนยึดขึ้นมาใช้ทดแทน

***คาดว่าอาจมีฝนหลงมาบ้าง ผมอาจใช้วิธีคลุมโคนด้วยใบจากหรืออื่นๆ เพื่อให้โคนมังคุดแห้งมากที่สุด ทีสำคัญคือ ต้องแห้งติดต่อกันนานจนมังคุดเฉาเพราะขาดน้ำ ไม่เช่นนั้นก็ต้องนับหนึงใหม่
ผมเองไม่สนับสนุนการใช้ปุ๋ยเคมีครับ แต่ในการทดลองนี้เป้าหมายหลักคือ อยากรู้ว่าทำตามขั้นตอนที่ว่าจะได้ผลยังไง ในอนาคตปุ๋ยเคมีทั้งหมดจะถูกปรับเปลี่ยนเป็นปุ๋ยทำเอง สำหรับแผนโดยละเอียดจะมาบอกเล่ากันอีกรอบ อาจมีการปรับแผนด้วยครับหลังจากปรึกษากันในครอบครัวแล้ว
 
     อีกเรื่องคือ สำหรับคนที่คิดทำมังคุดนอกฤดู เป็นครั้งแรกในชีวิต ขอความกรุณา อย่าทำทีเดียวทั้ง 100% นะครับ เพราะคุณยังขาดประสบการณ์ อาจกลายเป็นเพิ่มต้นทุนโดยใช่เหตุ ยกเว้นว่าคุณมีครูดีอยู่ข้างๆสวน อย่างนั้นทำ 100% ไปเลยครับ และอย่าลืมมาบอกขั้นตอนของเซียนด้วยนะ ผมจะได้ประชาสัมพันธ์เพื่อชาวสวนมังคุดทุกคน ปิดท้ายด้วยรูปผลผลิตจากสวนในฤดูกาลนี้ คิดว่าทั้งคันขายได้เท่าไหร่ครับ

ความทุกข์ของชาวสวนมังคุด

ช่วงนี้เป็นฤดูผลไม้ จึงมีผลผลิตออกมามากมาย คนไทยทั่วไปก็มีความสุข ได้กินผลไม้ราคาถูก ขณะที่ชาวสวนต้องร้องให้ โดยเฉพาะชาวสวนผลไม้ทางภาคใต้ ต้องพบเจอกับวิกฤตราคาผลไม้ทุกปี เน้นว่าทุกปี โดยเฉพาะตั้งแต่เดือนกรกฎาคม - สิงหาคม ราคาจะตกต่ำมาก โดยเฉพาะราคามังคุด เงาะ และ ลองกอง
ยกตัวอย่างง่ายๆ มังคุด ราชินีแห่งผลไม้ ที่มีราคาอยู่ที่ 6-9 บาทต่อกิโลกรัม นี่หมายถึงผลที่เกรดดีสุด(A)แล้ว ยังไม่พูดถึงมังคุดดอก ดำ หรือเกรดB,C ชาวสวนขนมังคุดไปเต็มรถกระบะ น้ำหนักร่วมๆ 300 กิโลกรัม ได้เงินกลับมาไม่ถึง 1,500 บาท แค่ค่าแรงก็แทบไม่เหลือแล้ว  เวลาชาวสวนเรียกร้องให้ช่วยแก้ปัญหา มักได้คำตอบว่า แก้ไม่ได้เพราะปริมาณผลไม้ออกสู่ตลาดมีมากเกินความต้องการ ผลผลิตคุณภาพไม่ดี บลาๆๆๆ  แล้วแต่จะอ้าง แต่จากการรวบรวมข้อมูลทั้งจากอินเตอร์เน็ต จากการสอบถามพ่อค้าแผงลอย พ่อค้าคนกลาง พ่อค้าส่งออก ทำให้พอจะสรุปข้อมูลของปัญหาได้ดังนี้
  1. ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมๆกันโดยเฉพาะช่วงปลายกรกฎาคมถึงปลายสิงหาคม ทำให้ผู้ส่งออกไม่สามารถรับซื้อได้ทั้งหมด อีกทั้งยังมีแหล่งของสินค้าให้คัดสรรจากหลายแหล่ง พูดง่ายๆว่าชาวสวนต้องง้อพ่อค้า พ่อค้าจึงเป้นผู้กำหนดราคา ยิ่งห่างเมืองราคารับซื้อจะยิ่งลดลง เพราะมีการกินหัวคิวต่อเป็นทอดๆ
  2. มังคุดมีปัญหา เนื่องจากชาวสวนมังคุดส่วนใหญ่จากการสอบถามคนทำสวนกว่า 50 ราย(ที่พอจะถามได้) พบว่ากว่า 46 ราย ยังมีการเก็บลูกมังคุดที่ตกบนพื้น(ตกจากที่สูงๆ)หรือลูกใต้โคน ไปขายรวมกับลูกที่เก็บสดๆ  เมื่อเวลาผ่านไป อย่างเร็ว 1 วัน อย่างช้า 3-5วัน ผลมังคุดพวกนั้นจะแข็ง (หวังว่าคงเคยเจอ) ทำให้ผู้รับซื้อที่ต่างประเทศไม่กล้าสั่งสินค้าในปริมาณมากๆ เมื่อออเดอร์ลด ราคาก็ถูกลดไปด้วย เรียกว่าปลาเน่าๆหลายตัวทำให้ปลาเน่าทั้งเข่ง ข้อนี้เป็นปัญหาหลักและส่งผลต่อราคาอย่างยิ่ง เพราะพ่อค้าสามารถใช้เป้นข้ออ้างในการกดราคาได้ดีนัก
  3. ช่วงที่มังคุดให้ผลผลิต จะอยู่ในช่วงฤดูฝนของทางภาคใต้พอดี ทำให้มังคุดสุกเร็ว ยิ่งฝนลงยิ่งแข่งกันสุก ทำให้ผลมังคุดสุกงอมเร็ว กลายเป็นลูกดำ หากเก็บเกี่ยวช้าก็จะถูกตัดราคา (ราคาลูกเกรดA คือ 6-9 บาท ขณะที่ลูกดำ 2-3 บาท)
  4. ตลาดส่งออกยังจำกัด ผู้ซื้อก็รายเดิมๆ การแข่งขันจึงพบได้น้อยมาก ขณะที่การแปรรูปมังคุดในประเทศ ยังถูกจำกัดด้วยฤดูการและงบประมาณ กลัวว่าลงทุนเครื่องจักรไปแล้ว ทำการผลิตได้แค่ไม่กี่เดือน จะไม่คุ้ม
  5. นโยบายรัฐบาลไม่ชัดเจน ตกลงจะส่งเสริมหรือไม่ส่งเสริม จะช่วยหรือไม่ช่วย ต้องรอให้ชาวสวนออกมาเรียกร้องถึงจะกระดิกตัวทำงาน ไม่เคยมีนโยบายทำอะไรล่วงหน้า อย่าลืมว่ามังคุด เป็นผลไม้ เก็บได้ไม่กี่วันก็เน่าเสีย มัวรอร่างแก้ไขเข้าสภาคงไม่ไหว ดังนั้นหัดทำหัดคิดอะไรล่วงหน้าหลายๆเดือนบ้างก็ดี
เพื่เป็นการสนับสนุนว่าราคามังคุดตกต่ำขนาดไหน ผมมีข้อมูลที่เก็บจากสวนมังคุด (สวนผมเอง) มาให้ดู เป็นราคาขายมังคุดตลอดฤดูเก็บเกี่ยวนี้ครับ

เส้นสีน้ำเงิน คือราคาของมังคุดคัดเกรด A คิดจากบ้านไปรอบนึงแล้วก็ถูกแม่ค้าคัดอีกรอบ
เส้นสีแดง คือราคาขายมังคุดลูกดอก หรือลูกดำ ราคาใกล้ๆกัน บางแห่งรับซื้อแบบผสมๆราคาเดียวกัน
ผลผลิตมังคุดปีนี้รวมๆแล้ว ได้ 6 ตันกว่าๆนิดๆ แต่รวมๆเงินที่ได้(ยังไม่หักค่าแรงงาน,น้ำมันรถ,ปุ๋ยหมัก ฯลฯ) ยังไม่พอซื้อคอมพิวเตอร์ดีๆซักเครื่องเลย (ประมาณ 5 หมื่นบาท) นี่แค่เปรียบเทียบให้เห็นภาพความต่างของมูลค่าสินค้า สวนของผมเริ่มขายมังคุดครั้งแรกวันที่ 20 กรกฎาคม จนถึงปัจจุบันครับ

แล้วทางแก้ล่ะ ก็ยังพอมี
  1. เพื่อลดปริมาณผลผลิตในช่วงปลายกรกฎาคมถึงปลายสิงหาคม จึงขอเชิญชวนให้ชาวสวนมังคุดหันไปทำมังคุดนอกฤดู ทำทุกสวนไปเลย แต่ทำแค่ 20-30%ของมังคุดที่มีผมประมาณให้ง่ายๆ สมมติ ทำนอกฤดู 30% แต่ได้ผลแค่ 20% ราคาขายประมาณ 40 บาท ต่อ กิโลกรัม === 20*40 == 800 , ขณะที่เหลือในฤดู 70% ให้ผลผลิตเต็มเท่าที่มีเลย คือ 70% ราคาขายเฉลี่ยประมาณ 10 บาทต่อกิโลกรัม == 70*10 == 700 นี่เป็นตัวอย่าง ถ้าทำตามโมเดลนี้ ปริมาณผลผลิตในฤดูจะเหลือประมาณ 70% ของปัจจุบัน ราคาเฉลี่ยอาจสูงกว่าที่เป็นอยู่ก็ได้  แต่การทำนอกฤดูก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องลงทุนเงินและความมุ่งมั่น ความเอาใจใส่มาก แต่ผลตอบแทนก็คุ้มการความเหนื่อยครับ ที่สวนผมก็กำลังทดลองตามแนวทางที่คนที่ทำสำเร็จแนะนำอยู่ครับ
  2. เรื่องปัญหาคุณภาพมังคุด ส่วนใหญ่เกิดขึ้นขณะเก็บเกี่ยว ทั้งวิธีการเก็บที่รุนแรง และ การเก็บลูกใต้โคน คงต้องร่วมสร้างสำนึกและความรับผิดชอบแก่เจ้าของสวน แต่ก็อย่างว่า ไม้แก่ดัดยาก คงมีไม่น้อยที่ยังคงพฤติกรรมเดิมๆ  ผมจึงแนะนำว่า รวมกลุ่มเฉพาะสวนที่ไว้ใจกันจริงๆ อาจมีการสุ่มตรวจหรือตามไปดูการเก็บเกี่ยว คงให้ดูกันเองครับ แล้วติดต่อไปยังผู้รับซื้อขอต่อรองราคาที่คุ้มและยุติธรรมกับความทุ่มเทและความเอาใจใส่ต่อสินค้า อาจมากกว่าราคาท้องตลาด3-5บาทก็แล้วแต่ เพื่อให้ชาวสวนที่ทำดีมีกำลังใจทำต่อไป และยังเป็นแรงจูงใจให้กลุ่มอื่นๆพัฒนาคุณภาพสินค้าของตนให้สูงขึ้นด้วย
  3. สู้กับฝนคงไม่ไหว แต่ถ้าหาทางบรรเทาอาจพอมี เช่น พลาสติกคลุมโคน , ปลูกผักเช่นต้นเหลียงไว้ใต้โคนมังคุด ช่วยดูดน้ำส่วนเกิน แต่นั่นเป็นปลายเหตุ ถ้าทำข้อ 1 และ 2 ได้ ข้อ 3 ไม่มีปัญหาครับ จะตกยังไงก็สบาย
  4. หาตลาดใหม่ๆเพื่อส่งออก พวกคนทำส่งออกเองจะมีส่วนสำคัญมากในข้อนี้ เพราะรู้ขั้นตอนและระเบียนการส่งออกผลไม้ดี มีพันธมิตรการค้าหลากหลาย ยิ่งหมั่นหาตลาดส่งออกได้มาก ผู้ค้าก็ได้กำไรมาก
  5. ด้านรัฐบาล ก็ช่วยคิดนโยบายสนับสนุนการค้าสินค้าเกษตรล่วงหน้าบ้าง นโยบายนึงที่มีคนพูดถึงกันมากคือ การสั่งซื้อล่วงหน้า ซึ่งอาจทำให้ราคาผลไม้สูงขึ้น แต่ข้อนี้อาจไม่จำเป็นเลย ถ้าทำข้อ 1 และ 2 ได้
นี่เป็นปัญหาหนักอกที่ชาวสวนมังคุด และ สวนอื่นๆกำลังประสบอยู่ครับ หวังว่าปีหน้าคุณจะช่วยซื้อมังคุดกินโดยไม่เกี่ยงราคาบ้างนะครับ