วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2552

หน้าดินนั้น สำคัญไฉน

หลายวันก่อนต้องไถปรับหน้าดินเพื่อทำโรงเห็ด ทำให้พบว่า ชั้นหน้าดินหนาได้ใจมาก
ปกติแล้ว ดินดั้งเดิมเป็นดินลูกรังแดง มีชั้นผิวดินเป็นวัตถุธาตุอาหารบางๆ ยิ่งสวนไหนขยันฉีดยา ก็ยิ่งบางเบาจนแทบโชว์เนื้อลูกรัง แต่ผลจากการไม่ฉีดยาฆ่าหญ้า การปลูกถั่วพร้าคลุมดิน การเพาะเห็ดฟางกองเตี้ยด้วยทะลายปาล์ม ผ่านไปกว่า 10 ปี วันนี้สิ่งเหล่านั้นยังคงสั่งสมอยู่ในผืนดินผืนนี้

ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นสีของดินแยกกันชัดเจน ชั้นล่างจะสีแดง นั่นเป็นดินลูกรัง แต่ชั้นบนจะเป็นสีดำ นี่คือหน้าดินที่อุดมไปด้วยธาตุอาหาร ซากพืช ปุ๋ยหมักตามธรรมชาติ ผมลองวัดความหนาของชั้นหน้าดินที่ได้เห็น พบว่าหนามากกว่า 20 เซ็นติเมตร

ให้เห็นแบบชัดเจน ความแดงของดินลูกรัง แล้วแบบนี้ สงสัยกันมั้ยครับว่า ต้นไม้ที่งอกงามเหล่านั้น โตกันได้ยังไง คำตอบก็คือ อาศัยธาตุอาหารจากหน้าดิน ไงละครับ ยิ่งหน้าดินหนาและมีสภาพสมบูรณ์มากเท่าไหร่ ต้นไม้ก็เจริญได้ดีตามเท่านั้น ไม่เพียงต้นไม้ แต่สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่เกี่ยวกับห่วงโซ่ในธรรมชาติก็พลอยได้อานิสงค์นี้ด้วย ไส้เดือน นักพรวนดิน ก็มีที่อยู่ เชื้อราตามธรรมชาติที่ช่วยย่อยซากพืชซากสัตว์ที่ตามแล้วให้เป็นธาตุอาหาร กลับเข้าสู่ห่วงโซ่อีกครั้ง เศษใบไม้ที่ทับถม กิ่งไม้ใบหญ้าที่ตายแล้ว ทั้งหมดล้วนมีส่วนช่วยส่งเสริมความอุดมสมบูรณ์ของดิน ให้เหมาะต่อการดำรงชีวิตทั้งของต้นไม้และสัตว์ เมื่อดินดีขนาดนี้จึงไม่แปลกเลยที่รากหาอาหารของต้นไม้น้อยใหญ่จะกระจายกันอยู่บนชั้นหน้าดินแน่นขนัด แบบนี้ปลูกอะไรก็งามครับ แม้ไม่ใส่ปุ๋ยเคมีเลย ก็ไม่เดือดร้อน แล้วสวนคุณล่ะ มีหน้าดินแบบนี้หรือยัง

วันอังคารที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ปาล์มน้ำมันราคาดี

อาทิตย์ที่ผ่านมาไปแทงปาล์มกันสามคนพ่อลูกครับ คราวนี้เป็นรอบของแปลงล่าง มีต้นปาล์มอยู่ร้อยกว่าต้นเอง อายุได้ 4 ปีและน้อยกว่านั้น มาดูสภาพในสวนกันครับ

นี่เป็นทางที่พึ่งจะไถไปได้ไม่นาน เส้นทางโอบออกไปทางขวาของสวนจนสุด แล้ววกเข้าผ่ากลางสวนครับ เพื่อให้รถสามารถวิ่งวนเก็บทะลายได้


นี่ก็เป็นอีกเส้นที่ขนาดไปกับความยาวของสวน
ช่วงนี้มีฝนตกทุกวัน เช้าบ้าง เย็นบ้าง แล้วแต่ศรัทธา ดินจึงชุ่มชื้นอยู่เสมอ



นี่เป็นตัวอย่างทะลายปาล์มที่ยังไม่สุก สีจะเขียวเข้มแบบนี้ ต้นนึงก็จะมีประมาณ 2 - 4 ทะลาย และจะมีทะลายที่ผ่านช่วงการเป็นดอกมาหมาดๆอีก อย่างน้อย 1-3 ทะลาย ซึ่งหมายความว่า ในการตัดรอบถัดไป และ รอบถัดๆไป จะยังมีทะลายให้สม่ำเสมอแน่นอน แต่ จุดสำคัญคือ ความสมบูรณ์ของดินและน้ำต้องพร้อม ไม่เช่นนั้น ทะลายที่เกิดใหม่เหล่านี้จะชะงักการเติบโต

นี่เป็นตัวอย่าง ทะลายที่ไม่สมบูรณ์ เพราะขาดอาหาร หากเจอว่าปาล์มต้นไหนให้ทะลายแบบนี้ก็บำรุงด่วนเลยครับ ไม่งั้น รอบถัดไป จะเจอแบบนี้อีกแน่นอน


ปาล์มต้นนี้ยังไม่มีให้ตัดในรอบนี้ครับ แต่สังเกตว่า ทะลายที่กำลังจะแก่ และพร้อมให้ตัดในรอบถัดไปมีมากถึง 3 ทะลาย จากขนาดทะลาย น้ำหนักเฉลี่ยคงประมาณ 7-10 กิโลกรัม / ทะลาย นับเป็นตัวอย่างของต้นที่ดินสมบูรณ์ต้นนึงเลย แต่ถ้าเทียบกับแปลงเนินเขา ซึ่งต้นปาล์มอายุมากกว่า 8 ปีแล้ว น้ำหนักเฉลี่ยต่อทะลายจะอยู่ที่ 20 กิโลกรัม/ทะลาย แปลงล่างนี้ก็เด็กๆไปเลย

ปาล์มร่วง นี่เป็นสภาพที่จะเกิดขึ้นหากปล่อยให้ทะลายสุกจัด แต่ถ้าไม่ขี้เกียจ ปาล์มร่วงก็ได้ราคาสูงกว่าปาล์มแบบทะลายนะครับ ซึ่งผมแนะนำว่า เก็บให้หมดตั้งแต่ตอนที่เจอเลย ได้ประโยชน์ 2 ทาง คือ ขายได้ราคา และ ไม่ต้องเสียเวลากำจัดต้นปาล์มที่จะงอกงามแย่งธาตุอาหารของต้นแม่ในอนาคต ครับ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2552 ราคาปาล์มที่อ.พะโต๊ะ เป็นดังนี้ครับ
ปาล์มร่วง 5.0 บาท/ก.ก.
ปาล์มทะลาย 4.50 บาท/ก.ก.

และเพื่อเป็นแนวทางแก่ผู้ที่ยังไม่ทราบ (ขออภัยผู้ที่ทราบอยู่แล้ว) ขอแนะนำการบำรุงต้นปาล์มกันอีกครั้ง ตามลิงค์นี้ครับ
http://thai-farmer.blogspot.com/2009/09/blog-post_28.html