วันพุธที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2552

ความทุกข์ของชาวสวนมังคุด

ช่วงนี้เป็นฤดูผลไม้ จึงมีผลผลิตออกมามากมาย คนไทยทั่วไปก็มีความสุข ได้กินผลไม้ราคาถูก ขณะที่ชาวสวนต้องร้องให้ โดยเฉพาะชาวสวนผลไม้ทางภาคใต้ ต้องพบเจอกับวิกฤตราคาผลไม้ทุกปี เน้นว่าทุกปี โดยเฉพาะตั้งแต่เดือนกรกฎาคม - สิงหาคม ราคาจะตกต่ำมาก โดยเฉพาะราคามังคุด เงาะ และ ลองกอง
ยกตัวอย่างง่ายๆ มังคุด ราชินีแห่งผลไม้ ที่มีราคาอยู่ที่ 6-9 บาทต่อกิโลกรัม นี่หมายถึงผลที่เกรดดีสุด(A)แล้ว ยังไม่พูดถึงมังคุดดอก ดำ หรือเกรดB,C ชาวสวนขนมังคุดไปเต็มรถกระบะ น้ำหนักร่วมๆ 300 กิโลกรัม ได้เงินกลับมาไม่ถึง 1,500 บาท แค่ค่าแรงก็แทบไม่เหลือแล้ว  เวลาชาวสวนเรียกร้องให้ช่วยแก้ปัญหา มักได้คำตอบว่า แก้ไม่ได้เพราะปริมาณผลไม้ออกสู่ตลาดมีมากเกินความต้องการ ผลผลิตคุณภาพไม่ดี บลาๆๆๆ  แล้วแต่จะอ้าง แต่จากการรวบรวมข้อมูลทั้งจากอินเตอร์เน็ต จากการสอบถามพ่อค้าแผงลอย พ่อค้าคนกลาง พ่อค้าส่งออก ทำให้พอจะสรุปข้อมูลของปัญหาได้ดังนี้
  1. ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมๆกันโดยเฉพาะช่วงปลายกรกฎาคมถึงปลายสิงหาคม ทำให้ผู้ส่งออกไม่สามารถรับซื้อได้ทั้งหมด อีกทั้งยังมีแหล่งของสินค้าให้คัดสรรจากหลายแหล่ง พูดง่ายๆว่าชาวสวนต้องง้อพ่อค้า พ่อค้าจึงเป้นผู้กำหนดราคา ยิ่งห่างเมืองราคารับซื้อจะยิ่งลดลง เพราะมีการกินหัวคิวต่อเป็นทอดๆ
  2. มังคุดมีปัญหา เนื่องจากชาวสวนมังคุดส่วนใหญ่จากการสอบถามคนทำสวนกว่า 50 ราย(ที่พอจะถามได้) พบว่ากว่า 46 ราย ยังมีการเก็บลูกมังคุดที่ตกบนพื้น(ตกจากที่สูงๆ)หรือลูกใต้โคน ไปขายรวมกับลูกที่เก็บสดๆ  เมื่อเวลาผ่านไป อย่างเร็ว 1 วัน อย่างช้า 3-5วัน ผลมังคุดพวกนั้นจะแข็ง (หวังว่าคงเคยเจอ) ทำให้ผู้รับซื้อที่ต่างประเทศไม่กล้าสั่งสินค้าในปริมาณมากๆ เมื่อออเดอร์ลด ราคาก็ถูกลดไปด้วย เรียกว่าปลาเน่าๆหลายตัวทำให้ปลาเน่าทั้งเข่ง ข้อนี้เป็นปัญหาหลักและส่งผลต่อราคาอย่างยิ่ง เพราะพ่อค้าสามารถใช้เป้นข้ออ้างในการกดราคาได้ดีนัก
  3. ช่วงที่มังคุดให้ผลผลิต จะอยู่ในช่วงฤดูฝนของทางภาคใต้พอดี ทำให้มังคุดสุกเร็ว ยิ่งฝนลงยิ่งแข่งกันสุก ทำให้ผลมังคุดสุกงอมเร็ว กลายเป็นลูกดำ หากเก็บเกี่ยวช้าก็จะถูกตัดราคา (ราคาลูกเกรดA คือ 6-9 บาท ขณะที่ลูกดำ 2-3 บาท)
  4. ตลาดส่งออกยังจำกัด ผู้ซื้อก็รายเดิมๆ การแข่งขันจึงพบได้น้อยมาก ขณะที่การแปรรูปมังคุดในประเทศ ยังถูกจำกัดด้วยฤดูการและงบประมาณ กลัวว่าลงทุนเครื่องจักรไปแล้ว ทำการผลิตได้แค่ไม่กี่เดือน จะไม่คุ้ม
  5. นโยบายรัฐบาลไม่ชัดเจน ตกลงจะส่งเสริมหรือไม่ส่งเสริม จะช่วยหรือไม่ช่วย ต้องรอให้ชาวสวนออกมาเรียกร้องถึงจะกระดิกตัวทำงาน ไม่เคยมีนโยบายทำอะไรล่วงหน้า อย่าลืมว่ามังคุด เป็นผลไม้ เก็บได้ไม่กี่วันก็เน่าเสีย มัวรอร่างแก้ไขเข้าสภาคงไม่ไหว ดังนั้นหัดทำหัดคิดอะไรล่วงหน้าหลายๆเดือนบ้างก็ดี
เพื่เป็นการสนับสนุนว่าราคามังคุดตกต่ำขนาดไหน ผมมีข้อมูลที่เก็บจากสวนมังคุด (สวนผมเอง) มาให้ดู เป็นราคาขายมังคุดตลอดฤดูเก็บเกี่ยวนี้ครับ

เส้นสีน้ำเงิน คือราคาของมังคุดคัดเกรด A คิดจากบ้านไปรอบนึงแล้วก็ถูกแม่ค้าคัดอีกรอบ
เส้นสีแดง คือราคาขายมังคุดลูกดอก หรือลูกดำ ราคาใกล้ๆกัน บางแห่งรับซื้อแบบผสมๆราคาเดียวกัน
ผลผลิตมังคุดปีนี้รวมๆแล้ว ได้ 6 ตันกว่าๆนิดๆ แต่รวมๆเงินที่ได้(ยังไม่หักค่าแรงงาน,น้ำมันรถ,ปุ๋ยหมัก ฯลฯ) ยังไม่พอซื้อคอมพิวเตอร์ดีๆซักเครื่องเลย (ประมาณ 5 หมื่นบาท) นี่แค่เปรียบเทียบให้เห็นภาพความต่างของมูลค่าสินค้า สวนของผมเริ่มขายมังคุดครั้งแรกวันที่ 20 กรกฎาคม จนถึงปัจจุบันครับ

แล้วทางแก้ล่ะ ก็ยังพอมี
  1. เพื่อลดปริมาณผลผลิตในช่วงปลายกรกฎาคมถึงปลายสิงหาคม จึงขอเชิญชวนให้ชาวสวนมังคุดหันไปทำมังคุดนอกฤดู ทำทุกสวนไปเลย แต่ทำแค่ 20-30%ของมังคุดที่มีผมประมาณให้ง่ายๆ สมมติ ทำนอกฤดู 30% แต่ได้ผลแค่ 20% ราคาขายประมาณ 40 บาท ต่อ กิโลกรัม === 20*40 == 800 , ขณะที่เหลือในฤดู 70% ให้ผลผลิตเต็มเท่าที่มีเลย คือ 70% ราคาขายเฉลี่ยประมาณ 10 บาทต่อกิโลกรัม == 70*10 == 700 นี่เป็นตัวอย่าง ถ้าทำตามโมเดลนี้ ปริมาณผลผลิตในฤดูจะเหลือประมาณ 70% ของปัจจุบัน ราคาเฉลี่ยอาจสูงกว่าที่เป็นอยู่ก็ได้  แต่การทำนอกฤดูก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องลงทุนเงินและความมุ่งมั่น ความเอาใจใส่มาก แต่ผลตอบแทนก็คุ้มการความเหนื่อยครับ ที่สวนผมก็กำลังทดลองตามแนวทางที่คนที่ทำสำเร็จแนะนำอยู่ครับ
  2. เรื่องปัญหาคุณภาพมังคุด ส่วนใหญ่เกิดขึ้นขณะเก็บเกี่ยว ทั้งวิธีการเก็บที่รุนแรง และ การเก็บลูกใต้โคน คงต้องร่วมสร้างสำนึกและความรับผิดชอบแก่เจ้าของสวน แต่ก็อย่างว่า ไม้แก่ดัดยาก คงมีไม่น้อยที่ยังคงพฤติกรรมเดิมๆ  ผมจึงแนะนำว่า รวมกลุ่มเฉพาะสวนที่ไว้ใจกันจริงๆ อาจมีการสุ่มตรวจหรือตามไปดูการเก็บเกี่ยว คงให้ดูกันเองครับ แล้วติดต่อไปยังผู้รับซื้อขอต่อรองราคาที่คุ้มและยุติธรรมกับความทุ่มเทและความเอาใจใส่ต่อสินค้า อาจมากกว่าราคาท้องตลาด3-5บาทก็แล้วแต่ เพื่อให้ชาวสวนที่ทำดีมีกำลังใจทำต่อไป และยังเป็นแรงจูงใจให้กลุ่มอื่นๆพัฒนาคุณภาพสินค้าของตนให้สูงขึ้นด้วย
  3. สู้กับฝนคงไม่ไหว แต่ถ้าหาทางบรรเทาอาจพอมี เช่น พลาสติกคลุมโคน , ปลูกผักเช่นต้นเหลียงไว้ใต้โคนมังคุด ช่วยดูดน้ำส่วนเกิน แต่นั่นเป็นปลายเหตุ ถ้าทำข้อ 1 และ 2 ได้ ข้อ 3 ไม่มีปัญหาครับ จะตกยังไงก็สบาย
  4. หาตลาดใหม่ๆเพื่อส่งออก พวกคนทำส่งออกเองจะมีส่วนสำคัญมากในข้อนี้ เพราะรู้ขั้นตอนและระเบียนการส่งออกผลไม้ดี มีพันธมิตรการค้าหลากหลาย ยิ่งหมั่นหาตลาดส่งออกได้มาก ผู้ค้าก็ได้กำไรมาก
  5. ด้านรัฐบาล ก็ช่วยคิดนโยบายสนับสนุนการค้าสินค้าเกษตรล่วงหน้าบ้าง นโยบายนึงที่มีคนพูดถึงกันมากคือ การสั่งซื้อล่วงหน้า ซึ่งอาจทำให้ราคาผลไม้สูงขึ้น แต่ข้อนี้อาจไม่จำเป็นเลย ถ้าทำข้อ 1 และ 2 ได้
นี่เป็นปัญหาหนักอกที่ชาวสวนมังคุด และ สวนอื่นๆกำลังประสบอยู่ครับ หวังว่าปีหน้าคุณจะช่วยซื้อมังคุดกินโดยไม่เกี่ยงราคาบ้างนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น