วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2552

ผืนดินชุ่มชื่นกลางสายฝน

     ช่วงนี้มีลมรสุมพัดเข้าจากด้านทะเลเวียดนาม ส่งผลให้มีฝนตกชุกตั้งแต่ภาคเหนือลงมา จังหวัดชุมพรก็ได้รับอานิสงค์ไปด้วย สวนมังคุดจึงได้รับฝนเต็มที่ ปุ๋ยที่ใส่ไว้เมื่อต้นเดือนเริ่มส่งผลแล้ว ยอดอ่อนรุ่นแรกแตกออกมาให้ได้ชื่นใจ อีกซัก 1 อาทิตย์ ฝนคงจะเบาบางลง คงได้เวลาใส่ปุ๋ยสูตรเสมอเพื่อบำรุงใบกันอีกรอบ ช่วงนี้ทำได้แค่ผสมปุ๋ยหมักรอไว้ก่อน ยังไม่รีบใช้เพราะใต้โคนมังคุดมีทลายปาลม์ที่ผ่านการเพาะเห็ดฟางอยู่มากกว่า 20 ตัน กระจายกันเกือบทั้งสวน เป็นปุ๋ยหมักชั้นดีเลยทีเดียว ท่านพ่อเคยยกทลายปาลม์ดู เจอใส้เดือนอ้วนๆมากมาย แสดงให้เห็นว่าดินอุดมสมบูรณ์ใช้ได้เลย ประกอบกับไม่มีการใช้สารเคมีสังเคราะห์จำพวกยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง มากว่า 10 ปี ด้วยแล้ว สวนนี้จึงเป็นสวนไร้สารอีกแห่งเลยทีเดียว
     ยังมีอีกเรื่องที่น่าชื่นใจ กิ่งตอนของต้นผักเหลียงแตกรากออกมาแล้ว อีกไม่กี่วันคงได้เวลาตัดไปปลูกล่ะ หลังจากรอมาเกือบ15วัน ความตั้งใจก็จะเป็นจริงแล้ว ปลายเดือนหลังจากปลูกชุดนี้ไป ประมาณ เกือบๆ 100 ต้น ก็จะลงมือตอนกิ่งใหม่เพิ่มอีก เพื่อไว้ปลูกใต้โคนต้นมังคุด หวังประโยชน์ 2 ทาง ทั้งช่วยดูดน้ำ และ เก็บยอดขาย ไว้สะดวกเมื่อไหร่จะได้ถ่ายรูปมาฝากกัน
     ขณะที่พืชหลักรายปี อย่างมังคุด อยู่ในช่วงบำรุง พืชที่ให้รายได้ทุกเดือนอย่าง ปาล์ม ก็ยังให้รายได้ต่อเนื่องมาตลอด และเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย ด้วยความตั้งใจ จึงได้ทำปฏิทินการให้ปุ๋ยปาล์มแบบอินทรีย์มานำเสนอ ประยุกต์วิธีการมาจากผู้รอบรู้และผู้สำเร็จในอาชีพ



     จะเห็นว่ามี 2 แบบนะครับ แบบแรกเป็นระบบปุ๋ยเคมีสำเร็จรูป ซึ่งมีสูตรชัดเจน และสูตรนี้ให้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ !!! ต้องลงทุนสูงมากเมื่อเทียบกับสูตรที่สอง ซึ่งเป็นการใช้น้ำหมักชีวภาพ(น้ำปลาหมัก)และปุ๋ยหมักชีวภาพ ร่วมกับการสร้างปุ๋ยหมักด้วยทางปาล์มกลางสวน ซึ่งได้ผลผลิตทลายปาล์มน้อยกว่าแบบแรกประมาณ 10-30% แต่ต้นทุนต่างกันกว่า 80% เลยทีเดียว
     สิ่งที่คล้ายคลึงกันคือช่วงเวลาที่ทำการใส่ปุ๋ย คือ ช่วงต้นฤดูฝน ปลายฤดูฝน แต่อาจคลาดเคลื่อนกันบ้างเล็กน้อย ให้ยึดตามฤดูกาลของแต่ละท้องถิ่นเป็นหลักนะครับ ส่วนการให้น้ำในหน้าแล้งนั้น ควรทำทั้งสองแบบ  เพราะจะช่วยให้ปาล์มให้ผลผลิตได้ดีขึ้น ถ้าพูดตามหลักวิชาการคือ ปริมาณน้ำมีผลต่อการเจริญเติมโตและการสร้างตาดอกของทลายปาล์ม ถ้ามีการจัดการดูแลที่ดี ในปาล์มอายุ 5 ปีขึ้นไป น่าจะมีผลผลิตเฉลี่ย 0.5 - 1.0 ตัน / ไร่ ต่อรอบเลยทีเดียว (ขึ้นอยู่กับพันธ์ปาล์มและที่ตั้งแปลงรวมถึงลักษณะดินฟ้าอากาศด้วย) และเมื่อปาล์มอายุมากขึ้นก็จะให้ผลผลิตสูงขึ้น โดยช่วงที่ปาล์มให้ผลผลิตสูงที่สุดคือช่วงเดือน กรกฏาคม - กันยายน

มาลองคิดเลขกันเล่นๆ ในสวนปาล์มที่บำรุงนิดหน่อย อาศัยดินดี ฝนดี

ปาล์ม 1 ทะลาย โดยทั่วไปจะหนักประมาณ 5-20 ก.ก.
เฉลี่ยทะลายสมบูรณ์ 12 ก.ก. ผมปัดทิ้งให้เหลือ 10 ก.ก. / ทะลาย

ปาล์มสมบูรณ์ 1 ต้น ให้ผลผลิต 2-4 ทะลาย หรือ 20-40 ก.ก./ต้น เฉลี่ยที่ 30 ก.ก. / ต้น

1 ไร่ มีประมาณ 22 ต้น
 22 ต้น/ไร่ * 30 ก.ก./ต้น = 660 ก.ก. / ไร่

ถ้าขายได้ราคา 3 บาท / ก.ก. --> 3 บาท/ก.ก. * 660 ก.ก. / ไร่ = 1,980 บาท / ไร่
ถ้าบ้านใครปลูกปาล์มซัก 10 ไร่ ---> 1,980 บาท/ไร่ * 10 ไร่  = 19,800 บาท / รอบ

รอบนึงตัดครั้งนึง สมมติใช้เวลา 2 วัน จ้างคนงาน 2 คน
ค่าแรง 250 บาท / คน / วัน
จะต้องเสียค่าแรงงาน = 250 บาท/คน/วัน * 2 คน * 2 วัน/รอบ = 1,000 บาท/รอบ

เสียค่าน้ำมันรถ 500 บาท

หักลบกันง่ายๆ 19,800 - 1,000 - 500  = 18,300 บาท

ต่อไปเป็นตัวแปรหลัก นั่นคือ ราคาปุ๋ย

ถ้าเลือกได้ หันไปใช้สูตรแบบสองน่าจะดีกว่าครับ เพราะปุ๋ยเคมีมันแพง ประมาณ 1,200 บาท/ไร่ ทั้งยังทำลายโครงสร้างดินด้วย ในขณะที่ปุ๋ยชีวภาพส่งเสริมรากปาล์ม ส่งเสริมสิ่งมีชีวิตในดิน ดินดีขึ้น ที่สำคัญสุดๆคือ ราคาถูก ประมาณ 500 บาท/ไร่ และทำเองได้ครับ

ปาล์ม 10 ไร่ ถ้าใช้สูตร 1 ปุ๋ยเคมี จะจ่ายค่าปุ๋ย 10 ไร่ * 1,200 บาท/ไร่ = 12,000 บาท
ปาล์ม 10 ไร่ ถ้าใช้สูตร 2 ปุ๋ยชีวภาพ จะจ่ายค่าปุ๋ย 10 ไร่ * 500 บาท/ไร่ = 5,000 บาท

เอารายได้จากการหักค่าแรงงานและขนส่งมาคิด

แบบสูตร 1 จะได้  18,300 - 12,000 =   6,300 บาท
แบบสูตร 2 จะได้  18,300 -  5,000  = 13,300 บาท

เพื่อให้เห็นความแตกต่าง สมมติ มี นาย ก. และ นาย ข. พื้นที่สวนติดกัน
นาย ก. ทำแบบ สูตร 1
นาย ข. ทำแบบ สูตร 2
ให้ทั้งสองคนออมเงิน 50% จากรายได้สวนปาล์ม
ผ่านไป 1 ปี นาย ก. มีเงินออม 6,300 บาท * 50% * 12 เดือน = 37,800 บาท + ดินโทรม ผลผลิตปีต่อไปจะเริ่มลดลง
ผ่านไป 1 ปี นาย ข. มีเงินออม 13,300 บาท * 50% * 12 เดือน = 79,800 บาท + ดินดีมาก แม้ปีต่อไปไม่ใส่ปุ๋ยเท่าเดิม แต่ก็ยังมีผลผลิตสูงอยู่ดี

นี่แค่ให้เห็นภาพที่ชัดเจนเท่านั้น ในความเป็นจริง การใส่ปุ๋ยก็ไม่ได้ทำทุกเดือน และรายได้ก็ไม่ได้เท่ากันทุกเดือนด้วย อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่า มีช่วงที่ปาล์มให้ผลผลิตเยอะๆอยู่ ช่วงนึงคือ กรกฏาคม - กันยายน(หน้าฝน) ส่วนที่อยู่นอกช่วงเวลานี้ คือผลชี้ขาดที่จะแสดงให้เห็นความทุ่มเทและความใส่ใจของเจ้าของสวนปาล์มแต่ละคนครับ

เดี๋ยวจะหาว่าผมมั่วเอา มาดูข้อมูลราคาปุ๋ยเคมีกัน
ปุ๋ยเคมีสูตร 36-0-0      630            
ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15     830          
ปุ๋ยเคมีสูตร 17-9-9     650          
ปุ๋ยเคมีสูตร 16-8-8     650          
ปุ๋ยเคมีสูตร 16-20-0     830          
ปุ๋ยเคมีสูตร 15-7-18     800          
ปุ๋ยเคมีสูตร 12-12-27     950          
ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21     980          
ปุ๋ยเคมีสูตร 25-7-7     830          
ปุ๋ยเคมีสูตร 8-24-24     1,250          
ปุ๋ยเคมีสูตร 35-5-0     630          
ปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-8     790

นี่เป็นราคาที่มีคนเสนอแข่งกันในเว็บๆนึงเมื่อเดือนสิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา(ขออ้างอิงหน่อยนะครับ)

ก่อนจบ เป็นขั้นตอนการทำปุ๋ยหมักชีวภาพ(โบกาฉิ) ของคุณวิศาล มาฝากกันครับ
1.แกลบหรือเมล็ดเปลือกกาแฟ 1 ส่วน
2.มูลสัตว์ 1 ส่วน
3.ผสม EM 1 ลิตร + กากน้ำตาล 1 ลิตร + น้ำ 10 ลิตร
4.คลุกเคล้า 1+2+3 ให้มีความชื้นประมาณ 50%
5.เอารำละเอียดมาคลุกกับผลจากข้อ 4.
6.กองบนพื้น ความหนาประมาณ 15-20 ซม. คลุมด้วยกระสอบป่าน กลับกองปุ๋ยทุกวัน เพื่อไม่ให้อุณหภูมิเกิน 50 องศา
7.หมักไว้ 5-7 วัน หรือจนกว่าจะแห้ง

การนำไปใช้คือ ใช้โรยรอบทรงพุ่ม ต้นละ 1-2 ก.ก.

ขอขอบพระคุณองค์ความรู้ของ
1.คุณปราโมทย์  ปานเจริญ เกษตรกร อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี
2.คุณวิศาล จงประเสริฐ เกษตรกร อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น